ทุนประกันภัยคืออะไร แตกต่างกับเบี้ยประกันอย่างไร
ทุกวันนี้เราซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันรถยนต์ ประกันอุบัติเหตุ เราเคยสังเกตทุนประกันกันบ้างหรือเปล่า? แล้วรู้หรือไม่ว่าทุนประกันภัยคืออะไร เป็นคำเดียวกันกับเบี้ยประกันหรือไม่ และมีความสำคัญอย่างไร อยากรู้ต้องอ่านบทความนี้เลย
ทุนประกันภัยคืออะไร
อันดับแรกเราต้องรู้ก่อนว่า “ทุนประกันภัย” กับ “เบี้ยประกันภัย” เป็นคนละคำ และคนละความหมาย เป็นตัวเลขที่มีความสำคัญต่อการทำประกันภัยทั้งคู่ แต่มีความหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ทุนประกันภัยหรือจำนวนเงินเอาประกันภัย คือ วงเงินความคุ้มครองที่เราได้รับจากบริษัทประกัน ซึ่งจำนวนเงินเท่าไรขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการรับประกันที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เราจะต้องพิจารณาก่อนการซื้อประกันว่ามีวงเงินที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับความต้องการของเราหรือไม่
เบี้ยประกันภัย คือ วงเงินที่เราจะต้องจ่ายให้แก่บริษัทประกัน เพื่อได้รับความคุ้มครองตามรายละเอียดของกรมธรรม์ สามารถเลือกจ่ายได้ทั้งรายเดือน รายสามเดือน หรือรายปี ขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ระบุเอาไว้ในสัญญา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุนประกันภัยและเบี้ยประกันภัยจะไม่เหมือนกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์กัน เพราะเบี้ยประกันที่สูง ก็จะส่งผลให้วงเงินเอาประกันภัยสูงตามไปด้วย
ตัวอย่างเช่น หากว่านาย A ทำประกันชีวิตจ่ายเบี้ยประกัน 5,000 บาท โดยสัญญาระบุทุนประกันชีวิตไว้ที่ 1 ล้านบาท หากว่านาย A เสียชีวิต บริษัทประกันจะต้องจ่ายให้ผู้ได้รับผลประโยชน์ 1 ล้านบาท
เราควรเลือกทุนประกันเท่าไร
คนส่วนใหญ่จะดูราคาของเบี้ยประกันที่เราสามารถจ่ายไหวในแต่ละเดือน เพื่อดูว่าเบี้ยประกันนั้นถูกหรือแพง แต่ลืมดูทุนประกันภัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราควรจะพิจารณาทุนประกัน เพื่อดูว่าประกันดังกล่าวมีความคุ้มค่า และมีวงเงินความคุ้มครองที่เหมาะสมกับเราหรือไม่
เพราะเรามีความเสี่ยงและความพร้อมไม่เหมือนกัน ทุนประกันเราจึงไม่ต้องเท่ากัน สำหรับการเลือกทุนประกัน จะใช้ 2 วิธีคำนวณดังต่อไปนี้
1. วิธีทวีคูณรายได้ (The Multiple of Earning Method)
วิธีที่ง่ายที่สุดในการคำนวณทุนประกันที่เหมาะสมกับเราคือ วิธีทวีคูณรายได้ โดยนำรายได้ทั้งปีของเรามาคูณ 3-5 เท่า ตามความเหมาะสม เพื่อที่เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นกับเรา คนข้างหลังจะได้มีเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายแบบไม่ลำบากไปอีก 3-5 ปีนั่นเอง
วิธีคำนวณทุนประกันภัยด้วยวิธีทวีคูณรายได้
|
2. วิธีวิเคราะห์ความจำเป็นทางการเงิน (The Financial Need Analysis Method)
วิธีนี้จะซับซ้อนขึ้นมาอีกนิดหน่อย โดยจะต้องลิสต์ค่าใช้จ่ายจำเป็นเมื่อต้องเสี่ยงภัย และหักรายได้ เงินออม เงินลงทุน และผลประโยชน์ต่าง ๆ
อันดับแรก ให้เราลิสต์และประมาณค่าใช้จ่ายและภาระทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่ารักษาพยาบาล เงินค่าเทอมลูก หนี้สินที่ต้องจ่ายรายเดือน จากนั้นให้ลิสต์รายได้ เงินออม และรายได้ทั้งหมด จากนั้นนำรายจ่ายทั้งหมดมาหักรายได้และผลประโยชน์ทั้งหมด จนได้เป็นทุนประกันที่เหมาะสมสำหรับเรา
วิธีคำนวณทุนประกันภัยด้วยวิธีวิเคราะห์ความจำเป็นทางการเงิน
ทุนประกันชีวิต = ค่าใช้จ่ายและภาระทั้งหมด - รายได้และผลประโยชน์ทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น หากว่าเราประเมินแล้วมีค่าใช้จ่ายค่าหนี้บ้าน 3 ล้านบาท ค่าเทอมลูกจนจบประมาณ 1 ล้านบาท หนี้สินอื่น ๆ ประมาณ 1 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรายเดือนประมาณ 1 ล้านบาท ทรัพย์สินส่วนตัวประมาณ 2 ล้านบาท ทุนประกันที่เหมาะสมจะเท่ากับ (3,000,000+1,000,000+1,000,000)-2,000,000 = 3,000,000 บาท |
การเลือกทุนประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับเรา
การเลือกทุนประกันสุขภาพ อาจจะมีความแตกต่างกับประกันชีวิตตรงที่ เราจะต้องตรวจสอบความเสี่ยงของเรา ได้แก่ โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม พฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ จากนั้นตรวจสอบว่าเรามีสวัสดิการอะไรอยู่บ้าง เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ โดยเราอาจจะลองประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อครั้ง แล้วเลือกความคุ้มครองที่เหมาะสม จากนั้นดูทุนประกันที่มีวงเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ทุนประกันจะแปรผันกับเบี้ยประกัน หากว่าเราเลือกทำทุนประกันที่วงเงินสูง เบี้ยประกันก็จะสูงตามไปด้วย ซึ่งอาจจะเกินความสามารถในการจ่ายของเรา เราจึงควรเลือกเบี้ยประกันที่พอดี ไม่มากเกินไป ซึ่งควรอยู่ที่ไม่เกิน 10% ของรายได้ทั้งปี
ถ้าเราขอคืนทุนประกันจะต้องใช้เวลาเท่าไร ได้เงินเท่าไร
อีกเรื่องหนึ่งที่เราควรรู้เกี่ยวกับทุนประกันภัยคือ เราสามารถขอเวนคืนประกันได้ หลังจากที่เราจ่ายเบี้ยประกันไปแล้ว หากว่าเรามีปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถชำระเบี้ยประกันต่อได้ ซื้อประกันผิดแบบ หรือความคุ้มครองไม่ตอบโจทย์ความต้องการ หรือต้องการเปลี่ยนกรมธรรม์ใหม่ที่เคลมผลประโยชน์ได้มากกว่าเดิม เราสามารถขอเวนคืนกรมธรรม์ได้เช่นเดียวกัน โดยจำนวนเงินที่ได้รับจะเท่ากับ (มูลค่าเวนคืนเงินสด x ทุนประกัน)/1,000
มูลค่าเวนคืนเงินสด คือ มูลค่าเงินที่ขอคืนได้ ซึ่งจะอยู่ในตารางแห่งมูลค่ากรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งมักจะให้เมื่อจ่ายเบี้ยประกันไปแล้ว 2 ปี หรือหลังจากจบปีที่ 2 นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น หากว่าทุนประกันชีวิตของเราคือ 1 ล้านบาท มูลค่าเวนคืนเงินสด คือ 11 บาท แสดงว่าเราจะได้เงินเวนคืนเท่ากับ (11 x 1,000,000)/1,000 = 11,000 บาท ซึ่งการเวนคืนจะใช้เวลาประมาณ 7-14 วันทำการ
นอกจากการเวนคืนประกันแล้ว เรายังสามารถขอกู้จากมูลค่าเวนคืนเงินสดได้เช่นเดียวกัน
ซื้อประกันทุกครั้ง อย่าลืมดูทุนประกันภัย เพื่อที่จะได้รู้สิทธิความคุ้มครอง และเมื่อตรวจสอบความคุ้มค่าแล้วอย่าลืมเลือกทำประกันกับ gettgo ความคุ้มครองหลากหลาย ซื้อง่าย ทุนประกันสูง เช็กเบี้ยประกันสุขภาพออนไลน์ได้เลย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02-111-7800 หรือ LINE OA : @gettgo
ข้อมูลอ้างอิง
- ทุนประกันเท่าไหร่จึงจะพอดี. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 จาก
https://www.set.or.th/th/education-research/education/happymoney/knowledge/article/43-what-is-the-ideal-sum-insured - “ทุนประกัน” กับ “เบี้ยประกัน” คนละคำ..อย่าจำสับสน. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 จาก
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/protect-my-family/sum-insured-and-premium-is-different-words.html - เลือกซื้อประกันแบบไหน ทุนประกันเท่าไหร่ ให้เหมาะสมกับเราที่สุด. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 จาก
https://member.set.or.th/set/financialplanning/lifeevent.do?name=lifeevent_detail_emergency-1&innerMenuId=15 - การเวนคืนกรมธรรม์ มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 จาก
https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/5-pros-and-cons-of-insurance-policy-cancellation