ใครที่กำลังมองหาประกันสุขภาพและกำลังศึกษาข้อมูลอยู่คงจะต้องเคยพบกับคำศัพท์อย่าง “IPD” หรือ “OPD” กันมาบ้าง เห็นมาเป็นตัวย่อภาษาอังกฤษแบบนี้ หลายคนก็อาจยังไม่ค่อยเข้าใจว่ามันคืออะไร มีผลอย่างไรกับประกันสุขภาพ แต่คำสองคำนี้นับว่ามีความสำคัญต่อการเลือกซื้อประกันสุขภาพแต่ละแบบมาก ๆ ดังนั้น วันนี้เรามาดูกันว่าทั้งสองคำนี้คืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร ?
IPD คืออะไร ?
IPD ย่อมาจาก In Patient Department หรือหมายถึงกรณีผู้ป่วยที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไปตามการวินิจฉัยของแพทย์ หรือที่เราเรียกว่า “ผู้ป่วยใน” แน่นอนว่าผู้ป่วยที่จะเข้ามานอนพักรักษาตัวอาจเป็นผู้ป่วยโรคร้ายแรงต่าง ๆ หรือเกิดอุบัติเหตุที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ รวมไปถึงกรณีที่ผู้ป่วยมีการแอดมิตพักรักษาตัวแต่เสียชีวิตที่โรงพยาบาลก่อน 6 ชั่วโมง
ยกตัวอย่างเช่น แพทย์วินิจฉัยให้ A ต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยให้ A นอนพักรักษาตัวรอการผ่าตัด 7 ชั่วโมง และใช้เวลาผ่าตัดอีก 5 ชั่วโมง จากนั้นต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลต่ออีก 7 วัน แบบนี้จะนับว่าเป็นผู้ป่วยแบบ IPD หรือผู้ป่วยใน เพราะใช้เวลารักษาตัวนานกว่า 6 ชั่วโมง
OPD คืออะไร ?
OPD ย่อมาจาก Out Patient Department หมายถึงผู้ป่วยที่มารักษาตัวแต่ไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล หรือ “ผู้ป่วยนอก” เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น ไข้หวัด โรคกระเพาะ อุบัติเหตุจากการหกล้ม เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น B ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานล้ม เมื่อเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยให้ฉีดยาและทำแผล แล้วรับยากลับบ้านได้ การรักษาเสร็จเรียบร้อยภายในเวลา 2 ชั่วโมง แบบนี้จะนับว่าเป็นผู้ป่วยนอก หรือเข้าเกณฑ์ OPD นั่นเอง
ความแตกต่างระหว่างประกันสุขภาพ IPD และ OPD
แน่นอนว่าเมื่อการรักษาพยาบาลแบ่งเป็น 2 กรณีอย่างนี้ ประกันสุขภาพก็มีการแยกระหว่างประกันแบบ IPD และ OPD เช่นกัน ซึ่งมีความแตกต่างกัน ดังนี้
ประกันสุขภาพแบบ IPD
คือประกันสุขภาพชนิดที่ครอบคลุมค่ารักษาภายในโรงพยาบาลที่ใช้ระยะเวลารักษานานกว่า 6 ชั่วโมง ซึ่งอาจรวมถึงค่าห้องพักรักษา ค่าห้อง ICU ค่าอาหาร ค่าแพทย์ ค่าห้องผ่าตัด ฯลฯ ภายในวงเงินประกันที่กำหนดไว้
ประกันสุขภาพแบบ OPD
เป็นประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยนอก ที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่ถึง 6 ชั่วโมง ซึ่งจะรวมค่าแพทย์ ค่ารักษาพยาบาล ค่ายารักษาโรค เป็นต้น
ประกันสุขภาพที่รวมทั้ง IPD และ OPD
สำหรับใครที่เลือกไม่ได้ บริษัทประกันหลาย ๆ แห่งก็มีการออกแผนประกันสุขภาพที่ครอบคลุมทั้ง IPD และ OPD ซึ่งจะมีความคุ้มครองทั้งในส่วนของการรักษาผู้ป่วยนอกที่มีอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย กับการรักษากรณีผู้ป่วยในที่มีอาการหนักและมีค่ารักษาพยาบาลที่สูง แน่นอนว่าเบี้ยประกันอาจจะสูงกว่าแบบอื่นหน่อย แต่รับรองเลยว่าได้รับความคุ้มครองที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน ใครที่ชอบความคุ้มครองครบ กระเป๋าหนักหน่อยนับว่าเหมาะมาก
ข้อดีของประกันสุขภาพ OPD หรือ IPD
-
ใช้สิทธิ์ได้สะดวก : การทำประกันสุขภาพแบบ OPD และ IPD จะทำให้เราสามารถไปใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ตามความสะดวก โดยเฉพาะกรณีเป็นผู้ป่วยแบบ OPD ที่มักจะมีอาการเจ็บป่วยแบบฉุกเฉิน คาดเดาไม่ได้ เช่น อุบัติเหตุ หรือไข้หวัด ดังนั้นการมีประกันสุขภาพแบบ OPD ไว้ จะช่วยให้เราเบิกค่ารักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก
-
วงเงินครอบคลุมแน่นอน : หลายคนอาจจะคิดว่าแค่มีสวัสดิการสุขภาพของบริษัท หรือประกันสังคมก็คงจะพอแล้ว แต่อย่าลืมคิดถึงตอนที่เราต้องป่วยหนัก ๆ แล้วต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูง การมีแค่ประกันสังคม หรือพึ่งสวัสดิการต่าง ๆ คงไม่พอแน่ จึงต้องทำประกันสุขภาพ เอาไว้อีกทางเพื่อความอุ่นใจ
-
ช่วยบริหารความเสี่ยง : การทำประกันสุขภาพเอาไว้สักแผนก็เหมือนเป็นการบริหารความเสี่ยงทางการเงินของผู้เอาประกัน บางคนอาศัยพึ่งพาสวัสดิการสุขภาพจากบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่หากวันไหนต้องลาออกหรือเกษียณขึ้นมา ความคุ้มครองเหล่านั้นก็จะหายไป เท่ากับเราจะต้องควักเงินจ่ายเอง แต่หากมีประกันสุขภาพแบบ IPD หรือ OPD เอาไว้ เราก็จะหมดห่วงเรื่องค่ารักษาพยาบาลไปได้
-
ลดหย่อนภาษีได้ : แน่นอนว่าการทำประกันสุขภาพช่วยให้เราสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย ทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระการจ่ายภาษีแต่ละปีไปได้มากเลยทีเดียว
ประกันสุขภาพแต่ละแบบเหมาะกับใคร ? ควรเลือก IPD อย่างเดียว หรือมี OPD ด้วย ?
แต่ละคนต่างก็มีปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกัน การมีประกันสุขภาพติดตัวไว้ช่วยให้อุ่นใจได้อย่างมาก เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาตอนไหน แต่ถึงอย่างนั้นประกันสุขภาพก็มีหลากหลายรูปแบบให้เราเลือก ผู้ซื้ออย่างเราก็ควรจะต้องสังเกตสุขภาพของตัวเอง และเลือกแผนประกันสุขภาพที่เหมาะกับเรามากที่สุด อย่างแผนประกันสุขภาพ IPD และ OPD ที่นับว่าเป็นแผนประกันสุขภาพยอดฮิตก็มีความเหมาะสมกับแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป หรือหากใครยังเลือกไม่ได้ บริษัทประกันบางแห่งก็มีแผนประกันที่ควบรวมทั้ง IPD และ OPD เข้าด้วยกัน แต่ละแบบเหมาะสมกับใครบ้าง เรามาศึกษาพร้อม ๆ กัน
ผู้ที่เจ็บป่วยบ่อย หรือป่วยเล็กน้อย
หากคุณเป็นคนที่ป่วยบ่อย มีเรื่องให้ต้องเดินเข้าออกโรงพยาบาลอยู่เสมอ แต่ไม่ป่วยหนักถึงขั้นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เช่น ไข้หวัด โรคกระเพาะ หรืออุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ขอแนะนำประกันสุขภาพแบบ OPDเด็กเล็กวัยกำลังซน
เด็ก ๆ เป็นวัยอยากรู้อยากเห็น ชอบซุกซนจนอาจเกิดอุบัติเหตุให้เจ็บตัวบ่อย ๆ หากอยากทำประกันสุขภาพสักแผนให้กับลูกหลานแล้วล่ะก็ ประกันสุขภาพแบบ OPD นับว่าตอบโจทย์ได้ดีทีเดียว และยังสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่อายุ 6 ปีเลยด้วย รับรองว่าอุ่นใจกว่าแน่นอน
ผู้ที่ป่วยไม่บ่อย แต่ป่วยหนัก
ใครป่วยไม่บ่อย แต่ป่วยทีนึงแล้วหนักขนาดต้องนอนพักรักษาตัวอยู่หลายวัน ขอแนะนำให้ทำประกันแบบ IPD จะตอบโจทย์ที่สุด เพราะประกันแบบนี้ครอบคลุมการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลยาว ๆ ทั้งค่าห้องพัก ค่าอาหาร หรือใครที่ต้องผ่าตัด ประกันแบบนี้ก็คุ้มครองได้ครบหายห่วง
พนักงานบริษัทที่มีสวัสดิการสุขภาพอยู่แล้ว
การทำงานในบริษัทหรือตามองค์กรต่างๆ มีข้อดีก็คือเราจะมีสวัสดิการสุขภาพติดตัวตลอดอายุการทำงาน เช่น สวัสดิการบริษัท หรือประกันสังคม แต่พวกสวัสดิการเหล่านี้มักครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลทั่วไปซึ่งมีวงเงินที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับการทำประกันสุขภาพ ดังนั้นการทำประกันสุขภาพแบบ IPD ที่ครอบคลุมกรณีต้องแอดมิตในโรงพยาบาลนาน ๆ นับว่าเป็นอะไรที่จะยิ่งทำให้เราอุ่นใจสุด ๆ
สำหรับคนอยากอุ่นใจ
โรคภัยไข้เจ็บจะถามหาเมื่อไหร่เป็นสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ แม้วันนี้อาจจะสบายดี แต่พรุ่งนี้อาจเกิดอุบัติเหตุจนต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ก็ได้ หลายคนที่กลัวแบบนี้จึงเลือกทำประกันที่รวมทั้ง OPD และ IPD ในแผนเดียวไปเลย หรือใครป่วยบ่อย ๆ ซึ่งเป็นอาการที่มีทั้งต้องนอนโรงพยาบาลนาน หรือแค่พบหมอ รับยาก็กลับบ้านได้ แบบนี้ควรทำประกันสุขภาพที่ควบรวมทั้ง IPD และ OPD จะดีที่สุด
ประกันสุขภาพ IPD สำหรับผู้ป่วยใน หรือ OPD สำหรับผู้ป่วยนอก นับเป็นแผนประกันที่คนนิยมทำกันมาก ๆ เพราะเรื่องเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเราก็ไม่รู้ว่าจะเจ็บป่วยตอนไหน ประกันสุขภาพ IPD และ OPD จึงเป็นประกันสุขภาพที่เราควรมีติดตัวเอาไว้ เพราะน่าจะได้ใช้แน่นอน ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ดีที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้แบบหมดกังวล แต่ก็อย่าลืมว่าก่อนที่จะเลือกซื้อประกันสุขภาพแบบ IPD OPD เราต้องมาประเมินตัวเองก่อนว่าอาการป่วยของเรามากน้อยแค่ไหน ควรเลือกซื้อประกันแบบไหนถึงจะคุ้มค่ากันแน่ หากซื้อแผนที่ไม่ตรงกับสุขภาพของเราแล้วเบิกไม่ได้ขึ้นมา หรือเบิกได้ไม่คุ้มก็คงจะไม่ดีแน่
แนะนำอ่าน : “ระยะเวลารอคอย” ของประกันสุขภาพคืออะไร ?