ในช่วงฤดูฝน หลายคนอาจไม่ทันระวังภัยร้ายที่แฝงมากับน้ำท่วมขัง นั่นคือ "โรคฉี่หนู" หรือ "เลปโตสไปโรซิส" (Leptospirosis) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบบ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม หากถามว่าโรคฉี่หนูอันตรายไหม ตอบได้เลยว่าโรคนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้น การทำความเข้าใจอาการโรคฉี่หนู วิธีป้องกัน และการรับมือที่ถูกต้อง จะช่วยให้คุณและครอบครัวปลอดภัยจากภัยร้ายนี้ในหน้าฝนได้
โรคฉี่หนูเกิดจากอะไร ?
โรคฉี่หนู (Leptospirosis) คือ โรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียในกลุ่มเลปโตสไปรา (Leptospira) โดยชื่อ “ฉี่หนู” มาจากการที่หนูเป็นพาหะหลักของโรคนี้ แต่ความจริงแล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ก็สามารถเป็นพาหะได้เช่นกัน
ส่วนโรคฉี่หนูเกิดจากอะไรนั้น ต้องบอกก่อนว่าเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปราสามารถมีชีวิตอยู่ได้ทั้งในร่างกายของสัตว์และในสิ่งแวดล้อมที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะในน้ำและดินซึ่งมีความเป็นด่างเล็กน้อย เมื่อสัตว์ที่ติดเชื้อปัสสาวะลงในแหล่งน้ำหรือพื้นดิน เชื้อดังกล่าวก็จะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ยิ่งหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขัง ยิ่งทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อสู่คนและสัตว์อื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น
อาการโรคฉี่หนู และความรุนแรงของโรค
อาการโรคฉี่หนูมักจะเริ่มปรากฏหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2-30 วัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10 วัน ช่วงแรกมักจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ทำให้วินิจฉัยได้ยาก เช่น
- มีไข้สูงเฉียบพลัน (มักสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส)
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณน่องและต้นขา
- ตาแดง (อาจพบในบางราย)
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย
- ไอแห้ง
ในระยะแรกนี้ อาการโรคฉี่หนูมักจะคงอยู่ประมาณ 3-7 วัน หลังจากนั้น ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้นชั่วคราว แต่หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม โรคอาจลุกลามเข้าสู่ระยะที่สอง ซึ่งจะมีความรุนแรงมากขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
ในกรณีที่โรคลุกลามเข้าสู่ระยะที่สอง ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากอาการในระยะแรกดีขึ้นแล้ว 1-3 วัน บางรายอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น
- ตับอักเสบ ทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง
- ไตวายเฉียบพลัน
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้มีอาการปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง และอาจมีอาการชัก
- ปอดอักเสบ ทำให้หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด
- เลือดออกผิดปกติ เช่น จ้ำเลือดตามตัว เลือดกำเดาไหล
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
โรคฉี่หนูอันตรายไหม ? คำตอบคือ สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้จะอยู่ที่ประมาณ 5-15% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และความรวดเร็วในการได้รับการรักษา ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต หรือผู้ที่มีความคุ้มกันบกพร่อง
การติดต่อและปัจจัยเสี่ยงของโรคฉี่หนู
วิธีการติดต่อของโรคฉี่หนู
โรคฉี่หนูติดต่อจากสัตว์สู่คนผ่านการสัมผัสกับน้ำ ดิน หรือพืชผักที่ปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ดังนี้
- ผ่านทางบาดแผลหรือรอยถลอกบนผิวหนัง
- ผ่านทางเยื่อบุต่าง ๆ เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุปาก
- การดื่มน้ำหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ
- การหายใจเอาละอองน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป (พบได้น้อย)
กลุ่มเสี่ยง
- เกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา ชาวสวน
- คนงานในฟาร์มสัตว์
- คนทำงานในท่อระบายน้ำหรือบ่อบำบัดน้ำเสีย
- นักกีฬาทางน้ำ เช่น พายเรือ ว่ายน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
- ผู้ที่อาศัยในพื้นที่น้ำท่วมขัง
พื้นที่เสี่ยง
- พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน
- พื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะนาข้าวและไร่อ้อย
- พื้นที่ชุมชนแออัดที่มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำและการกำจัดขยะ
- แหล่งน้ำธรรมชาติ
การป้องกันตนเองจากโรคฉี่หนู
สำหรับโรคฉี่หนู นอกจากรู้สาเหตุ อาการแล้ว การป้องกันก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนหรือในพื้นที่เสี่ยง
การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน
- สวมรองเท้าบูตยางเมื่อต้องลุยน้ำหรือทำงานในพื้นที่เปียกชื้น
- สวมถุงมือยางเมื่อต้องสัมผัสกับน้ำหรือดินที่อาจปนเปื้อนเชื้อ
- สวมแว่นตาและหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันน้ำกระเด็นเข้าตาหรือปาก
- หากมีบาดแผล ควรปิดแผลให้มิดชิดก่อนสัมผัสน้ำหรือดิน
การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสกับน้ำหรือดิน โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร
- อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีหลังจากทำงานหรือทำกิจกรรมในพื้นที่เสี่ยง
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารขณะทำงานในพื้นที่เสี่ยง
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
การจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัว
- กำจัดขยะและเศษอาหารอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูและสัตว์พาหะอื่น ๆ
- ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด
- เก็บอาหารและน้ำดื่มในภาชนะที่ปิดสนิท พ้นจากการเข้าถึงของหนูและสัตว์อื่น ๆ
- อุดรูและช่องทางที่หนูอาจเข้ามาในบ้านหรืออาคาร
- ตัดหญ้าและกำจัดวัชพืชรอบบ้านเพื่อลดแหล่งที่อยู่อาศัยของหนู
- ระบายน้ำที่ท่วมขังรอบบ้าน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่จำเป็นต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยงเป็นประจำ เช่น เกษตรกร หรือคนงานในฟาร์ม ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาป้องกันโรคฉี่หนู ซึ่งอาจมีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
เมื่อได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคฉี่หนู ทั้งสาเหตุ อาการ และการป้องกันไปแล้ว อย่าลืมเตรียมพร้อมรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บด้วยประกันสุขภาพกับ gettgo เรามีแผนประกันสุขภาพออนไลน์ที่ครอบคลุมโรคติดเชื้อต่าง ๆ รวมถึงโรคฉี่หนู สมัครง่าย ไม่ต้องตรวจสุขภาพ เริ่มความคุ้มครองทันที เพื่อให้คุณมั่นใจได้ว่าจะได้รับการรักษาที่ดีที่สุดโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ โทร. 02-111-7800 หรือ LINE OA : @gettgo
ข้อมูลอ้างอิง
- ฉี่หนู หน้าฝนน้ำท่วมต้องระวังให้หนัก. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567. จาก https://www.bangkokhospital.com/content/leptospirosis-be-careful-in-rainy-season-and-flood
- โรคฉี่หนู ภัยที่มากับหน้าฝน. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567. จาก https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/leptospirosis