หลายคนอาจทราบว่าประกันสุขภาพสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ยังไม่เข้าใจรายละเอียดว่าลดหย่อนได้มากน้อยเพียงใด และควรวางแผนอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งความคุ้มครองและภาษี วันนี้เรามาไขข้อสงสัยกันแบบละเอียดทุกแง่มุม ตั้งแต่ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้เท่าไรไปจนถึงแนวทางการซื้อเพื่อให้ทุกบาททุกสตางค์ที่จ่ายไปตอบโจทย์ทั้งด้านความคุ้มครองและลดหย่อนภาษีได้อย่างคุ้มค่าที่สุด
ทำไมประกันสุขภาพถึงลดหย่อนภาษีได้ ?
ก่อนจะลงลึกไปถึงรายละเอียดว่าเบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้เท่าไร มารู้ถึงเหตุผลที่การซื้อประกันสุขภาพสามารถลดหย่อนภาษีได้กันก่อน ซึ่งคำตอบคือ รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนทำประกันสุขภาพและประกันชีวิต เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการบริหารจัดการงบประมาณสาธารณสุขของรัฐ นอกจากนี้ การมีประกันยังช่วยให้ประชาชนสามารถวางแผนการเงินและเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ดีขึ้น
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงออกมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพและประกันชีวิต เพื่อจูงใจให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการทำประกันและใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเต็มที่
ประกันสุขภาพประเภทใดที่ลดหย่อนภาษีได้ ?
ไม่ใช่ทุกประกันสุขภาพที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ โดยกรมธรรม์ที่ลดหย่อนได้ต้องมีเงื่อนไขความคุ้มครองที่ตรงตามกฎหมายกำหนด ดังนี้
- ประกันค่ารักษาพยาบาล ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยใน (IPD) และ/หรือผู้ป่วยนอก (OPD)
- ประกันชดเชยทุพพลภาพหรือสูญเสียอวัยวะ อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ
- ประกันโรคร้ายแรง ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเมื่อตรวจพบและรักษาโรคร้ายแรง
- ประกันสำหรับการดูแลระยะยาว (Long-Term Care) สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ เช่น การเดิน การลุกนั่ง
ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้เท่าไร ?
ในการจะตอบคำถามว่าประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้เท่าไร เราจำเป็นต้องแบ่งการลดหย่อนภาษีของประกันสุขภาพออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ เบี้ยประกันสุขภาพของตัวเอง, พ่อแม่ และคู่สมรส โดยรายละเอียดแต่ละกลุ่มมีดังนี้
เบี้ยประกันสุขภาพของตัวเอง
ผู้ที่ทำประกันสุขภาพให้แก่ตนเอง สามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายจริงมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท ต่อปี แต่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมหากทำร่วมกับประกันชีวิต
- กรณีทำประกันสุขภาพร่วมกับประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากที่มีการประกันชีวิต จะสามารถลดหย่อนได้รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปี
- ถ้าทำประกันสุขภาพร่วมกับประกันชีวิตแบบบำนาญ จะสามารถลดหย่อนได้รวมกันไม่เกิน 200,000 บาท ต่อปี
เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่
การทำประกันสุขภาพให้พ่อแม่ สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดคนละ 15,000 บาท ต่อปี โดยมีเงื่อนไขว่า :
- รายได้ของพ่อแม่แต่ละคนต้องไม่เกิน 30,000 บาท ต่อปี
- พ่อแม่ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยและอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีนั้น
เบี้ยประกันสุขภาพของคู่สมรส
หากคู่สมรสไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อปี ผู้จ่ายเบี้ยสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพของคู่สมรสมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท ต่อปี
เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อขอสิทธิลดหย่อนภาษี
ถ้าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันสุขภาพ ผู้เสียภาษีจำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ได้แก่
- หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันสุขภาพ ที่ออกโดยบริษัทประกันภัย โดยต้องระบุ :
- ชื่อ-นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย
- จำนวนเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่าย
- จำนวนเงินที่มีสิทธิลดหย่อนภาษี
- หลักฐานการจดทะเบียนสมรส (กรณีขอลดหย่อนภาษีสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพคู่สมรส)
- หลักฐานยืนยันรายได้ของพ่อแม่ (กรณีขอลดหย่อนภาษีสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่)
แนวทางเลือกประกันสุขภาพให้คุ้มค่า
-
ซื้อประกันสุขภาพตั้งแต่ต้นปี
การวางแผนซื้อประกันสุขภาพตั้งแต่ต้นปีช่วยให้คุณมีเวลาศึกษาเงื่อนไขกรมธรรม์ได้อย่างละเอียด และหลีกเลี่ยงการซื้อกรมธรรม์ที่ไม่ตอบโจทย์เพียงเพื่อลดหย่อนภาษี
-
เลือกกรมธรรม์ที่ตอบโจทย์
ควรเลือกกรมธรรม์ที่ครอบคลุมความต้องการ เช่น หากต้องการคุ้มครองโรคร้ายแรง ให้เลือกประกันที่มีความคุ้มครองเฉพาะด้านนี้ หรือหากต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายยามเกษียณ สามารถเลือกประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไขการดูแลระยะยาว
-
ตรวจสอบสิทธิ์การลดหย่อนภาษี
ก่อนซื้อประกันสุขภาพ ควรตรวจสอบว่าเบี้ยประกันดังกล่าวสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ โดยสอบถามจากตัวแทนประกัน หรือบริษัทประกันภัย
กำลังมองหาประกันสุขภาพที่ลดหย่อนภาษีได้คุ้มค่าและให้ความคุ้มครองตรงกับที่ต้องการจริง ๆ อยู่ใช่ไหม ? แนะนำซื้อแบบประกันสุขภาพ so you จาก gettgo แผนประกันที่ปรับแต่งได้ทุกไลฟ์สไตล์ เพิ่มค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) สูงสุด 30 ครั้งต่อปี วงเงิน 500 / 1,000 หรือ 2,000 บาทต่อครั้ง หรือวงเงินเหมาจ่าย 20,000 บาทต่อปี ช่วยดูแลค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก ค่าธรรมเนียมปรึกษาแพทย์ ค่าวินิจฉัย และค่ายา ซื้อออนไลน์ได้เลย หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ โทร. 02-111-7800 หรือ LINE OA : @gettgo
ข้อมูลอ้างอิง
- หมวดค่าลดหย่อนประกันชีวิต/ประกันชีวิตแบบบำนาญ/ประกันสุขภาพ. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567. จาก https://www.rd.go.th/60058.html