การเล่นกีฬา เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงของการบาดเจ็บ ซึ่งอาจมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงเจ็บปวดขั้นรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
หลายคนอาจสงสัยว่าอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬามีสาเหตุจากอะไร และจะป้องกันอย่างไรได้บ้าง บทความนี้จะพาไปไขข้อสงสัย เพื่อให้คุณเล่นได้อย่างปลอดภัย ออกแรงได้อย่างเต็มที่ มีสุขภาพที่ดีและมีความสุข
สาเหตุของการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
1. ขาดการเตรียมพร้อม
เนื่องจากร่างกายต้องการเวลาในการปรับตัวก่อนออกกำลัง ดังนั้น การวอร์มอัปที่ไม่เพียงพอ ไม่กระตุ้นยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้เตรียมพร้อม หรือเริ่มเล่นออกแรงอย่างหนักทันที จึงอาจทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อได้รับบาดเจ็บได้ง่าย
2. เทคนิคการเล่นไม่ถูกต้อง
การใช้ท่าทางที่ผิดหรือออกแรงมากเกินไปสามารถก่อให้เกิดความเครียดต่อกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น การฉีกขาด การพลิก หรืออาการปวด
3. อุปกรณ์กีฬาไม่เหมาะสม
อุปกรณ์กีฬาก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ เพราะชิ้นส่วนที่ไม่พอดีกับร่างกายหรือชำรุดเสียหายอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดปัญหา เช่น รองเท้าที่คับเกินไปอาจทำให้เท้าพอง หรือหมวกกันน็อกหลวมอาจไม่สามารถปกป้องศีรษะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. สภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย
บริเวณที่ใช้ในการเล่นกีฬาก็มีผลต่อความปลอดภัยเช่นกัน กล่าวคือ พื้นที่ขรุขระ มีสิ่งกีดขวาง หรือแสงไฟไม่เพียงพออาจนำไปสู่การสะดุดล้มหรือชนกับวัตถุอื่น ๆ ได้ อีกทั้งสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ฝนตกทำให้พื้นลื่น หรืออุณหภูมิสูงเกินไป ล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงทั้งสิ้น
5. การพักผ่อนไม่เพียงพอ
โดยปกติหลังจากการออกกำลัง ร่างกายจะต้องการเวลาในการพัก ผ่อนคลาย และฟื้นฟู ดังนั้น การฝืนเล่นต่อเนื่องโดยไม่ให้เวลาพัก และใช้ร่างกายอย่างหักโหม อาจนำไปสู่การอักเสบและเพิ่มโอกาสบาดเจ็บจากการใช้งานมากเกินไป ด้วยเหตุนี้ การจัดตารางฝึกซ้อมที่สมดุลและรู้จักหยุดพักเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าจึงเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่พบบ่อย มีอะไรบ้าง ?
1. การบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน
เนื้อเยื่ออ่อน หรือเนื้อเยื่อในกลุ่มกล้ามเนื้อ เอ็น และเส้นประสาทที่อยู่ตามแขน ขาของเรา มักได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา สาเหตุหลักมาจากการใช้แรงมากเกินไป การเคลื่อนไหวผิดท่า หรือการกระแทกโดยตรง โดยเมื่อเกิดการบาดเจ็บจะมีอาการปวด บวม แดง บริเวณที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ อาจพบรอยฟกช้ำร่วมด้วย
2. การอักเสบหรือฉีกขาดของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
ปัญหานี้มักเกิดจากสองสาเหตุหลัก คือ การใช้งานซ้ำ ๆ และการออกกำลังกายหนักเกินไป ในกรณีของการอักเสบ ผู้บาดเจ็บจะรู้สึกปวดเมื่อเคลื่อนไหว บวม และอาจมีอาการตึงกล้ามเนื้อ ส่วนการฉีกขาดนั้นมักเป็นผลมาจากการใช้แรงกะทันหัน หรือการยืดตัวมากเกินไป ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงอย่างการไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ และอาจสังเกตเห็นรอยช้ำบริเวณที่บาดเจ็บ
3. ข้อต่อและเอ็นยึดข้อต่อบาดเจ็บ
ข้อต่อ เป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมกระดูกเข้าด้วยกัน การบาดเจ็บในส่วนนี้มักมีสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวผิดท่าหรือการบิดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดอาการปวด บวม และในบางกรณีอาจได้ยินเสียงดังกรอบแกรบเมื่อขยับ
4. กระดูกหัก
การบาดเจ็บที่รุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะกระดูกหัก ซึ่งแบ่งออกเป็นสามประเภทหลัก ดังนี้
- - กระดูกหักแบบเปิด : ลักษณะคือ กระดูกทะลุผ่านผิวหนังออกมา ทำให้เกิดบาดแผลเปิดและเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมา
- - กระดูกหักแบบปิด : แม้จะไม่มีบาดแผลภายนอก แต่ผู้บาดเจ็บจะประสบกับความเจ็บปวดรุนแรง อาการบวม และไม่สามารถเคลื่อนไหวส่วนที่ได้รับผลกระทบได้ตามปกติ
- - กระดูกหักจากแรงกระทำซ้ำ ๆ : เกิดจากการใช้แรงกระทำซ้ำ ๆ บริเวณเดียวกันเป็นเวลานาน เช่น ในกรณีของนักวิ่งระยะไกลหรือนักกีฬาที่ต้องกระโดดบ่อย ๆ
การรักษาเบื้องต้นสำหรับอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
1. ปฐมพยาบาลด้วยหลักการ RICE
หลักการ RICE เป็นแนวทางการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่นิยมใช้กันทั่วโลก ย่อมาจากคำว่า
- - R - Rest (พัก) : หยุดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บทันที เพื่อลดการเคลื่อนไหวของบริเวณนั้น
- - I - Ice (ประคบเย็น) : ใช้ผ้าห่อหุ้มน้ำแข็งประคบบริเวณที่บาดเจ็บประมาณ 15-20 นาที ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ช่วยลดอาการบวมและปวด
- - C- Compression (พันรัด) : ใช้ผ้าพันแผลรัดบริเวณที่บาดเจ็บพอประมาณ ช่วยลดอาการบวม
- - E- Elevation (ยกสูง) : ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ ช่วยลดการไหลเวียนของเลือดและลดอาการบวม
2. รับประทานยาแก้ปวด
ยาแก้ปวดชนิดพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) สามารถช่วยลดอาการปวดและอักเสบได้ แต่ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้
3. ทำกายภาพบำบัด
กายภาพบำบัด เป็นการรักษาที่ช่วยฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และระบบประสาท โดยสามารถออกแบบโปรแกรมการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
4. ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากบางกรณีอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด
หากอาการบาดเจ็บไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง เช่น ปวดบวมมาก มีไข้ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ในกรณีที่กระดูกหัก ควรปรึกษาแพทย์และตรวจ X-ray หรือ MRI เพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม
วิธีการป้องกันอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
1. วอร์มอัปและคูลดาวน์
การวอร์มอัปก่อนเล่นกีฬาจะช่วยเพิ่มอุณหภูมิร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อยืดหยุ่นขึ้น ส่วนการคูลดาวน์หลังออกกำลังกายเสร็จสิ้นจะช่วยให้ร่างกายปรับสู่ภาวะปกติ ลดอาการปวดเมื่อยและป้องกันกล้ามเนื้อเกร็ง
2. ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
การยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงบาดเจ็บ ทั้งนี้ ควรทำทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬาทุกครั้ง
3. ฝึกฝนเทคนิคการเล่นที่ถูกต้อง
เมื่อร่างกายพร้อม ควรฝึกเทคนิคการเล่นกีฬาที่ถูกต้องจากผู้ฝึกสอนที่มีประสบการณ์ เพื่อให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ถูกวิธี และป้องกันการเคลื่อนไหวผิดท่า
4. เลือกใช้อุปกรณ์กีฬาที่เหมาะสม
อุปกรณ์ที่เหมาะกับชนิดกีฬาและสรีระจะช่วยรองรับ ปกป้องร่างกาย และลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น รองเท้าวิ่งที่พอดีเท้า หรือหมวกกันน็อกมาตรฐานที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5. พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนอย่างเพียงพอ จำเป็นสำหรับการฟื้นฟูกล้ามเนื้อและข้อต่อที่ใช้งาน ในทางตรงกันข้าม การฝืนเล่นกีฬาต่อเนื่องโดยไม่พัก อาจทำให้เกิดการอักเสบและเพิ่มความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บจากการใช้งานมากเกินไป
6. ฟังสัญญาณเตือนของร่างกาย
สิ่งสำคัญที่สุดคือ รู้จักฟังร่างกายตัวเอง หากรู้สึกเจ็บปวดหรือผิดปกติ ควรหยุดพักทันทีและปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬาอย่างเร่งด่วน
เล่นกีฬาแบบอุ่นใจ เพียงซื้อประกันอุบัติเหตุออนไลน์จาก gettgo
เล่นกีฬาให้สนุก ปลอดภัย ไร้กังวล ด้วยการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม และรับมือกับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาด้วยประกันอุบัติเหตุออนไลน์ส่วนบุคคลจาก gettgo แผนประกันรายปีสุดคุ้ม ในราคาเริ่มต้นเพียงหลักร้อย ให้ความคุ้มครองตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ หมดกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช็กเบี้ยประกันและซื้อออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร: 02-111-7800 หรือ LINE OA: @gettgo
ข้อมูลอ้างอิง
- How to Use the R.I.C.E Method for Treating Injuries. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567. จาก https://upmc.ie/blog/orthopaedic-care/how-to-use-the-r-i-c-e-method-for-treating-injuries.
- บาดเจ็บจากเล่นกีฬา รักษาอย่างตรงจุด กับแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การกีฬา. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567. จาก https://kdmshospital.com/article/sports-injuries/