นับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ภาคการท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาคึกคักกันอย่างมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวต่างประเทศ หลังจากหลาย ๆ ประเทศเริ่มเปิดประเทศกันแล้ว นักท่องเที่ยวชาวไทยก็เริ่มจองตั๋วไปเที่ยวกันเยอะมาก หนึ่งในประเทศยอดฮิต ที่ดูเหมือนชาวไทยจะคิดถึงมากก็คือ “ประเทศเกาหลีใต้” แต่แน่นอนว่าเราเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดกันมาได้ไม่นาน ดังนั้นแต่ละประเทศจึงมีมาตรการการเข้าประเทศที่แตกต่างกันไป อย่างประเทศเกาหลีใต้ ก็มีการลงทะเบียนที่เรียกว่า “K-ETA” มันคืออะไร ต้องทำอย่างไรบ้าง เราจะมาแนะนำขั้นตอนให้ทุก ๆ คนเตรียมพร้อมกัน ก่อนบินลัดฟ้าไปแดนกิมจิ
K-ETA คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
K-ETA ย่อมาจาก Korea Electronic Travel Authorization คือระบบการขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้สำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งสามารถทำผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน K-ETA ได้เลย ระบบนี้ นอกจากจะอำนวยความสะดวกสบายให้เราไม่ต้องไปต่อแถวทำวีซ่าให้เสียเวลาแล้ว ทางกระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ยังคิดค้นระบบนี้ เพื่อคัดกรองคนที่อาจลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้อีกด้วย เพราะเดี๋ยวนี้หากใครตามข่าวก็คงทราบว่ามีชาวต่างชาติถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศเกาหลีใต้กันเยอะมาก และเชื่อว่าระบบนี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้
สำหรับระบบ K-ETA ที่จริงแล้วมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2021 แต่เริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถเข้าประเทศได้เต็มรูปแบบเมื่อเดือนเมษายน 2022 ที่ผ่านมา สำหรับประเทศที่มีข้อตกลงยกเว้นวีซ่ากับเกาหลีใต้ แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นมีประเทศไทยอยู่ด้วย โดยจะต้องขอล่วงหน้าก่อนเดินทางมายังเกาหลีใต้ 72 ชั่วโมง และจะสามารถจองตั๋วไปเกาหลีใต้ได้ก็ต่อเมื่อเราได้รับ K-ETA แล้ว ค่าธรรมเนียมในการขอคือ 10,000 KRW หรือประมาณ 270 บาท หลังจากได้รับการอนุมัติแล้ว K-ETA ที่ได้รับมานั้นจะมีผลบังคับใช้ 2 ปีนับตั้งแต่ได้รับอนุมัติ ซึ่งเราจะไม่ต้องไปกรอกใบขาเข้าที่ประเทศเกาหลีใต้ซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม การได้รับ K-ETA ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้แบบผ่านฉลุย เพราะเรายังต้องไปเจอด่านสุดท้ายนั่นคือด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินของเกาหลีใต้อยู่ดี แต่หากไม่ได้รับการอนุมัติมาตั้งแต่แรก เช่น ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน หรือมีเหตุผลไม่ชัดเจน เราสามารถยื่นขอใหม่ได้ หรือกลับไปใช้การขอวีซ่าแบบปกติแทนได้
เอกสารที่ต้องมีในการลงทะเบียน K-ETA
- หนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตที่ยังไม่หมดอายุ สแกนด้วยสกุลไฟล์ .jpeg .jpg .pdf .bmp อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยขนาดไม่เกิน 300k
- รูปถ่ายหน้าตรง รูปถ่ายควรเป็นรูปหน้าตรง แนวตั้ง เห็นหน้าชัดเจน ไม่สวมหมวก แว่นตา หรือผ้าพันคอ ขนาด 700*700 ไฟล์ภาพขนาดไม่เกิน 100kb
- ข้อมูลที่พักในเกาหลีใต้ หมายความว่าเราต้องทำการจองที่พักก่อน เพื่อให้ได้ที่อยู่ในการไปพำนักอย่างชัดเจน ขณะที่หลักฐานการจองตั๋วเครื่องบินไม่ต้องใช้ จึงแนะนำให้จองหลังจากที่ได้รับการอนุมัติ K-ETA แล้ว
- บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตสำหรับหักค่าธรรมเนียม
ขั้นตอนการลงทะเบียน K-ETA
- เข้าสมัครในเว็บไซต์ https://www.k-eta.go.kr/portal/apply/index.do หรือแอปพลิเคชั่น K-ETA
- กรอกอีเมลสำหรับใช้รับผลการอนุมัติ
- กรอกข้อมูลหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต พร้อมอัปโหลดภาพหน้าหนังสือเดินทาง
- กรอกข้อมูลในการเข้าประเทศเกาหลีใต้ เช่น วัตถุประสงค์ของการเดินทาง ที่อยู่ที่จะไปพำนัก และแนบรูปถ่ายหน้าตรง การกรอกข้อมูลต่าง ๆ ควรกรอกอย่างละเอียดและให้ตรงตามความเป็นจริงเพราะจะมีผลในการพิจารณา
- ชำระค่าธรรมเนียม 10,000 KRW หรือประมาณ 270 บาทต่อผู้สมัคร 1 คน โดยสามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตได้เลย ทั้งนี้อาจมีค่าธรรมเนียมในการชำระผ่านออนไลน์เพิ่มเติม เมื่อชำระเงินแล้วเท่ากับเป็นการยืนยันว่าเราสมัคร K-ETA แล้วเรียบร้อย และจะไม่สามารถขอเงินคืนได้ทุกกรณี
การทราบผลการลงทะเบียน K-ETA และการเข้าประเทศเกาหลีใต้
ตรวจสอบผลการลงทะเบียนผ่านทางอีเมลที่กรอกไว้ ซึ่งจะเป็นผลอนุมัติจากกระทรวงยุติธรรมของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ควรได้รับการอนุมัติก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง
- หากได้รับการอนุมัติแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือการจองตั๋วเครื่องบิน
- เมื่อเดินทางถึงประเทศเกาหลีใต้แล้ว ผู้ที่มี K-ETA จะไม่ต้องกรอกบัตรตรวจคนเข้าเมืองอีก เพียงแค่แสดงตัวและตรวจหนังสือเดินทาง ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินเป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น
ข้อควรระวัง
- กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ยิ่งละเอียดยิ่งดี ที่สำคัญคือต้องให้ถูกต้องที่สุด เช่น เหตุผลในการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ สถานที่พำนัก ควรกรอกให้ละเอียดว่าพักที่ไหนเมืองไหน ชื่อโรงแรมอะไร และระยะเวลาในการพำนักในประเทศเกาหลีใต้ ควรระบุให้ชัดเจนว่าเราจะมากี่วัน กลับวันไหน
- แน่นอนว่าการพำนักอยู่ในเกาหลีใต้เกินกำหนดนับว่าผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง และยังจะทำให้เสียชื่อเสียงแก่ชาวไทยที่ต้องการเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายด้วย เมื่อขอ K-ETA ผ่านและเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้แล้ว เราสามารถพำนักอยู่ได้ไม่เกิน 90 วันต่อครั้งเท่านั้น
- กรณีที่ต้องขออนุมัติ K-ETA ซ้ำอีกครั้ง ได้แก่ ผู้ที่ขอแล้วไม่ผ่าน หรือผู้ที่แม้จะได้รับการอนุมัติ K-ETA ไปแล้ว แต่มีการเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล หมายเลขพาสปอร์ต โรคประจำตัว ฯลฯ
- ช่วงนี้มีผู้ต้องการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้กันเยอะมากขึ้น ดังนั้นการทราบผลอาจนานมากกว่า 24 ชั่วโมง ผู้ยื่นขอจึงต้องคำนวณระยะเวลาให้ดีเพื่อให้ได้รับการอนุมัติก่อนเดินทาง และแน่นอนว่านอกจากจะมีผู้ขอเยอะแล้ว จำนวนผู้ถูกปฏิเสธก็เยอะเช่นเดียวกัน ดังนั้นข้อมูลที่เราจะใช้กรอกจึงสำคัญมาก
- สำหรับผลการตรวจโควิด ปัจจุบันเกาหลีใต้ได้เปลี่ยนมาตรการให้นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องกักตัวหรือยื่นผลการตรวจโควิดที่เป็นลบล่วงหน้าแล้ว เพียงแต่นอกจากเราจะต้องลงทะเบียน K-ETA ให้ผ่านแล้ว ยังต้องลงทะเบียน Q-CODE เพื่อให้ข้อมูลด้านสุขภาพก่อนเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ด้วย
K-ETA ผ่านแล้ว อย่าลืมประกันเดินทาง
ประกันเดินทางหลัก ๆ แล้วมีทั้งแบบรายเที่ยว สำหรับผู้ที่เดินทางระยะสั้น ๆ และไม่บ่อยใน 1 ปี และแบบรายปี สำหรับผู้ที่เดินทางบ่อย ๆ ใน 1 ปี ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะถูกกว่าแบบการซื้อแยกสำหรับแต่ละทริป บางคนอาจมองว่าไม่จำเป็นต้องซื้อก็ได้ เพราะคงไม่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นขณะเที่ยวหรอก แต่ความคิดนี้ที่จริงแล้วผิดมหันต์เลย
ประกันเดินทางคุ้มครองกรณีไฟลท์บินมีปัญหา
เรื่องไฟลท์บินดีเลย์ หรือถูกยกเลิก นับเป็นเหตุสุดวิสัยที่เราควบคุมอะไรไม่ได้ การมีประกันเดินทางจะช่วยคุ้มครองค่าเสียหายส่วนนี้ เช่น ค่าตั๋วเครื่องบินที่ถูกยกเลิกซึ่งเรายังไม่ได้เดินทาง หรือการชดเชยค่าเสียเวลาหากเครื่องบินของเราดีเลย์เกินเวลาที่กำหนด
ประกันเดินทางคุ้มครองสุขภาพและอุบัติเหตุ
เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยหรืออุบัติเหตุก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ ยิ่งหากไปเจ็บป่วยที่ต่างประเทศขึ้นมายิ่งลำบาก เพราะนอกจากจะมีกำแพงเรื่องภาษาแล้ว ค่ารักษาพยาบาลที่ต่างประเทศยังอาจแพงกว่าในประเทศไทยมาก ดังนั้น การมีประกันเดินทางติดตัวเอาไว้จึงช่วยให้เราอุ่นใจแม้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน
คุ้มครองทรัพย์สินหรือเอกสารสำคัญ
ความจริงแล้วประกันเดินทางยังครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินของเราด้วย ไม่ว่าจะกระเป๋าเดินทางที่อาจชำรุดหรือล่าช้าจากเที่ยวบิน รวมไปถึงเอกสารสำคัญในการเดินทางอย่างพาสปอร์ต
ประเทศเกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยม ที่คนไทยอยากจะไปเที่ยวกันมากที่สุดหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง แต่การจะเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้ก็ยังต้องมีขั้นตอน นั่นก็คือการขออนุมัติ K-ETA ซึ่งผู้ที่จะเดินทางควรศึกษาและเตรียมข้อมูลให้ดีจะได้ไม่เสี่ยงโดนปฏิเสธ และเพื่อให้การเดินทางของเราอุ่นใจจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน นักท่องเที่ยวทั้งหลายควรจะทำประกันเดินทางต่างประเทศติดตัวไปด้วยเผื่อในกรณีฉุกเฉิน และควรเลือกแผนประกันเดินทางที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด