ประกันของเรา
บทความ
เกี่ยวกับ gettgo

ใบขับขี่สากล มีกี่แบบ ? ต้องทำอย่างไร Dr.Gett มีคำตอบ!

ใบขับขี่สากล มีกี่แบบ ? ต้องทำอย่างไร Dr.Gett มีคำตอบ!

ใบขับขี่สากล มีกี่แบบ ทำอย่างไร

ช่วงนี้ประเทศต่าง ๆ เริ่มทยอยเปิดประเทศกันแล้ว และหนึ่งในทริปในฝันของใครหลาย ๆ คนก็คือ “Road Trip” หรือการขับรถเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่จะให้ทั้งประสบการณ์ใหม่ ๆ ในสถานที่ท่องเที่ยวแบบอันซีน และความสะดวกสบายที่มากกว่าเพราะไม่ต้องไปใช้บริการรถสาธารณะร่วมกับผู้อื่น แต่การจะขับรถเที่ยวในต่างประเทศได้ สิ่งที่จำเป็นก็คือ “ใบขับขี่สากล” ซึ่งมีหลากหลายประเภท และมีเงื่อนไขในการใช้งานที่ผู้ขับขี่จะต้องศึกษาให้ดี วันนี้เรารวบรวมข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับใครก็ตามที่อยากทำใบขับขี่สากลมาฝากกัน

ใบขับขี่สากลคืออะไร ?

ใบขับขี่สากล หรือใบขับขี่ระหว่างประเทศ (International Driving Permit: IDP) หมายถึงเอกสารยืนยันตัวตน เพื่อใช้สำหรับขับขี่รถยนต์ในต่างประเทศ ที่รองรับใบขับขี่สากลได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถใช้เพื่อการเดินทางไม่ว่าจะท่องเที่ยว ทำงาน หรือเรียนต่อต่างประเทศ

ใบขับขี่สากลจะแบ่งหลัก ๆ ได้เป็น 2 ประเภทตามอนุสัญญา 2 ฉบับ นั่นคือ “อนุสัญญาเจนีวา 1949” และ “อนุสัญญาเวียนนา 1968” แต่เดิมประเทศไทยมีเพียงใบขับขี่สากลตามอนุสัญญาเจนีวา 1949 เท่านั้น แต่ภายหลังจากมีการปรับแก้อนุสัญญาเจนีวาให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นอนุสัญญาเวียนนา 1968 นั้น ไทยก็ได้ประกาศให้มีการทำใบขับขี่ภายใต้อนุสัญญาใหม่นี้โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา การประกาศให้มีผลบังคับใช้ตามอนุสัญญาฉบับใหม่นี้ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแล้วยกเลิกของเก่า แต่เป็นเหมือนการเพิ่มประเภทเข้าไปเท่านั้น ทางกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่าการใช้ใบขับขี่สากลภายใต้อนุสัญญาเวียนนา 1968 จะช่วยยกระดับความปลอดภัยทางถนนและมาตรฐานใบขับขี่ของไทยให้เท่ามาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ต่างชาติที่เป็นภาคีกับอนุสัญญาฉบับใหม่สามารถนำใบขับขี่สากลมาใช้ในประเทศไทยได้จึงเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวไปในตัว


อนุสัญญาเจนีวา 1949

อนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ณ นครเจนีวา ค.ศ. 1949 ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้มานานมากแล้ว สามารถใช้ได้กับ 101 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิตาลี เมื่อทำแล้วใบขับขี่สากลภายใต้อนุสัญญานี้ ใบขับขี่ที่ได้จะมีอายุการใช้งาน 1 ปี


อนุสัญญาเวียนนา 1968

อนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ณ กรุงเวียนนา ค.ศ. 1968 จะต่างจากอนุสัญญาฉบับแรกตรงที่ ฉบับนี้จะครอบคลุม 84 ประเทศ ซึ่งบางประเทศเป็นประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาเจนีวา ทำให้ใบขับขี่สากลภายใต้อนุสัญญานี้สามารถเป็นตัวเลือกให้กับคนที่กำลังจะเดินทางไปในประเทศที่อนุสัญญาเจนีวาอาจไม่ครอบคลุม เมื่อทำใบขับขี่สากลภายใต้อนุสัญญาเวียนนา ใบขับขี่ที่ได้จะมีอายุถึง 3 ปีเลยทีเดียว

การมีอนุสัญญาเวียนนา 1968 เพิ่มเข้ามาช่วยให้เราสามารถทำใบขับขี่สากลไปเที่ยวในต่างประเทศได้หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีประเทศที่สามารถทำได้ทั้งแบบเจนีวา และเวียนนาด้วยเช่นกัน  เช่น อังกฤษ รัสเซีย อิตาลี เป็นต้น ใครที่อยากทำใบขับขี่สากลแบบใหม่อนุสัญญาเวียนนาก็นับว่าคุ้ม เพราะทำครั้งนึงใช้ได้ 3 ปี ส่วนแบบเก่า อนุสัญญาเจนีวาที่ใช้ได้ 1 ปีก็ยังสามารถทำได้เหมือนเดิม


ขั้นตอนทำใบขับขี่สากล

1. อันดับแรกต้องจองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน “DLT Smart Queue” หรือผ่านเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th หากใครทำการจองคิวผ่านแอปพลิเคชันสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนได้ดังนี้

- เลือกเมนู “งานใบอนุญาต”
- เลือกประเภทใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล
- เลือก “ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ”
- เลือกประเภทยานพาหนะ
- เลือกวันและเวลาที่ต้องการจองคิว โดยวันที่ขึ้นสีแดงหมายถึงเต็ม สีเขียวหมายถึงวันที่สามารถจองได้ ส่วนสีดำหมายถึงวันนั้นไม่เปิดให้บริการ

2. เตรียมหลักฐานประกอบคำขอ ดังนี้

1) หนังสือเดินทางสำหรับใช้เดินทางและยังไม่หมดอายุ (สำเนาและฉบับจริง)
2) บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง)
3) ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล (แบบ 5 ปี) หรือแบบตลอดชีพที่ยังไม่หมดอายุ ใช้ได้ทั้งใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถสาธารณะ เป็นต้น (ฉบับจริง / ใบแทนใบอนุญาตแล้วแต่กรณี)
4) รูปถ่าย 2 นิ้ว (4 x 6 ซม.) 2 รูป เป็นรูปครึ่งตัวหน้าตรง เห็นใบหน้าชัดเจน และถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน
5) ค่าธรรมเนียม 505 บาท


* กรณีไม่ได้ไปยื่นด้วยตนเองจะต้องเตรียมเอกสารมอบอำนาจแนบไปเพิ่ม ดังนี้


1) สำเนาเอกสารตามข้อ 1-3 ของผู้มอบอำนาจ
2) หนังสือมอบอำนาจ (ฉบับจริง) พร้อมระบุประเทศที่จะเดินทาง และติดอากรแสตมป์ 10 บาท
3) บัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจที่ยังไม่หมดอายุ (ฉบับจริง)
4) หลักฐานการแก้ไขชื่อ-สกุล คำนำหน้า ยศ ในกรณีที่เอกสารตามข้อ 1-3 ของผู้มอบอำนาจไม่ตรงกัน พร้อมลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง


* กรณีเป็นชาวต่างชาติ


1) ใบอนุญาตขับรถ (ต้องไม่ใช่ชนิดชั่วคราว)
2) หนังสือเดินทางที่มีวีซ่า Non-Immigrant  (สำเนาและฉบับจริง)
3) ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ หรือใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) หรือใบอนุญาตทำงานอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Work Permit)  ที่ยังไม่หมดอายุ หรือหลักฐานที่แสดงว่าเป็นผู้ตรวจลงตราพิเศษ (Smart Visa) ที่ได้รับรองโดยสถานทูตหรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
4) รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป เป็นรูปครึ่งตัว หน้าตรง เห็นใบหน้าชัดเจน และถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน

3. เมื่อรวบรวมเอกสารได้แล้วให้นำไปยื่น ณ สถานที่ ดังนี้

- ส่วนกลาง ที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-5
- ส่วนภูมิภาคติดต่อได้ที่สำนักงานขนส่งทุกจังหวัด

4. เมื่อยื่นคำขอพร้อมเอกสารหลักฐาน ณ สำนักงานขนส่ง ให้เราแจ้งชื่อประเทศที่จะใช้ใบขับขี่สากลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกใบขับขี่ให้ตรงกับประเทศนั้น ๆ (อนุสัญญาเจนีวาหรือเวียนนา) จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการตรวจสอบเอกสารและออกคำขอให้เรา ต่อมาเราก็ต้องไปชำระค่าธรรมเนียม 505 บาท และรอรับใบขับขี่สากลได้ทันที เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำใบขับขี่สากลที่ง่ายมาก ๆ

5. การนำใบขับขี่สากลไปใช้ในต่างประเทศ จะต้องใช้ควบคู่กับใบขับขี่ของประเทศไทยทุกครั้ง เพราะฉะนั้นก่อนออกเดินทางไปต่างประเทศ อย่าลืมเช็คให้ดีว่าลืมใบขับขี่ของไทยหรือเปล่า มิฉะนั้นอาจไม่สามารถใช้ใบขับขี่สากลในประเทศนั้น ๆ ได้


การทำใบขับขี่สากลสามารถทำได้ไม่ยาก ในไม่กี่ขั้นตอน ไม่ต้องมีการอบรมหรือทดสอบใด ๆ เพิ่มเติม ขอแค่เตรียมเอกสารให้ครบถ้วน เมื่อยื่นเรื่องแล้วก็สามารถรอรับภายในวันนั้นได้ทันที หากไปประเทศที่เป็นภาคีของทั้งอนุสัญญาเจนีวา 1949 และอนุสัญญาเวียนนา 1968 เราสามารถเลือกทำได้ทั้งแบบที่มีอายุ 1 ปี หรือ 3 ปี นับว่าเป็นการทำที่คุ้มค่ามาก สำหรับใครที่ยังไม่เคยลองเที่ยวต่างประเทศแบบขับรถเที่ยว อยากแนะนำให้ลองมาทำใบขับขี่สากลกันดูแล้วจะพบว่าการขับรถเที่ยวในต่างประเทศ ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีอีกแบบ เราอาจจะได้สัมผัสกับสถานที่ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยได้ไป หรือได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับผู้คนในสถานที่นั้น ๆ มากขึ้นแบบที่การท่องเที่ยวด้วยระบบขนส่งสาธารณะอาจให้เราไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นการขับรถเที่ยวเองก็เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้หากไม่ระวัง เพราะการขับรถในต่างประเทศย่อมไม่เหมือนที่ประเทศไทย เช่น บางประเทศขับรถด้วยพวงมาลัยซ้าย ซึ่งความแตกต่างข้อนี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุมานับครั้งไม่ถ้วน และก่อนที่จะไปขับรถเที่ยวต่างบ้านต่างเมือง เราควรศึกษากฎจราจรรวมถึงมารยาทในการขับรถของประเทศนั้น ๆ ให้ดี และควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาคงไม่คุ้มกับค่าเสียหายที่ต้องจ่าย หรือบางเคสที่รุนแรงมาก ๆ อาจถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยทีเดียว
 

นอกจากเราต้องระวังตัวเองแล้ว หากใครต้องการความอุ่นใจขั้นสุด ขอแนะนำให้ทำประกันเดินทางติดตัวไปทุกครั้งที่ไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นตอนไหน ประกันเดินทางต่างประเทศมีหลายแบบให้เลือกซื้อทั้งแบบรายเที่ยวและรายปี ครอบคลุมทั้งการเจ็บป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน นอกจากนี้ยังให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทั้งกรณีเสียหายหรือสูญหาย ครอบคลุมถึงไฟล์ทบินที่ดีเลย์หรือยกเลิก และอาจจำเป็นสำหรับการทำวีซ่าบางประเทศอีกด้วย จะเห็นได้ว่าหากใครที่มีแพลนขับรถเที่ยวในต่างแดน การทำใบขับขี่สากลควบคู่กับประกันเดินทางนับเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้เราอุ่นใจได้อย่างมาก
 

บทความที่คุณอาจสนใจ

เที่ยวญี่ปุ่น ฤดูไหนดีนะ ?
เลือกประกันเดินทางอย่างไรให้คุ้มเงิน
ดื่มกาแฟแบบมีจริต กับวัฒนธรรมการดื่มกาแฟจาก 5 ประเทศ
ความคุ้มครอง ประกันชั้น 1 ประกันชั้น 2+ ประกันชั้น 2 คุ้มครองเฉพาะคู่กรณี ประกันชั้น 3+ ประกันชั้น 3 คุ้มครองเฉพาะคู่กรณี
รถชน(ไม่มีคู่กรณี)
รถชน(มีคู่กรณี)
ค่ารักษาพยาบาล
รถยนต์สูญหาย
ไฟไหม้
น้ำท่วม

เข้าสู่ระบบ

หากยังไม่มีบัญชีผู้ใช้ กรุณา สมัครสมาชิก

 

สมัครสมาชิก

หากเป็นสมาชิกอยู่แล้วกรุณา ลงชื่อเข้าใช้งาน

Loading..

กำลังดำเนินการ กรุณารอสักครู่ค่ะ 😊