อ่ะสืบเนื่องต่อจากโพสเมื่อวานเรื่อง “มาตรการเร่งให้ประกันจ่ายเคลมโควิด” กันไปเลย เรื่องกำลังฮอต เพราะเมื่อคืนมี DM มาถามเราว่า สรุปอะไรคือการ "ประวิงการจ่ายสินไหม" กันแน่ แล้วอะไรนับเป็นเคสนี้บ้าง เพราะเรื่องนี้มันอยู่ในมาตรการที่คปภ.ออกมาบอกย้ำเรื่องการจ่ายเคลมประกันโควิดในเฟสบุ๊กเมื่อคืน (07.09.2021) ว่า
“…กรณีบริษัทประกันกระทำการเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 20,000 บาท...”
อ่านแค่นี้อาจจะงง วันนี้เราเลยจะมาเปิด #DetectiveClinic อธิบายเรื่องนี้กัน แต่ก่อนอื่น มาทำความรู้จักสั้น ๆ กันก่อน “ประวิงการจ่ายสินไหม" นั้นอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 36 เว้นวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 เพื่อบังคับใช้กรณีที่บริษัทประกัน “ประวิงเวลา” ในการจ่ายเงินชดเชยหรือคืนเบี้ยให้กับผู้เอาประกัน อ่าไม่ต้อง งง มาฟังต่อ
ประวิงการจ่ายสินไหม คืออะไร ?
คำว่า “ประวิง” ตามราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง หน่วงไว้ให้เนิ่นช้า ถ่วงเวลา เช่น ประวิงเวลา ประวิงคำตอบ เป็นต้น แต่ในกฎหมายฉบับนี้ มีอีกหลายเคสมาก ที่นอกเหนือไปจากเรื่อง “เวลา” และเข้าข่ายว่าประกันกำลัง “ประวิงการจ่ายสินไหม” เราอยู่ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง เราจะได้ไม่เสียท่าให้ประกันนะจ๊ะ
มีเคสไหนที่เข้าข่ายบ้าง ?
1. เกิดความเสียหายขึ้นละ แต่ประกันไม่ยอมออกหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจว่า ความเสียหายคิดเป็นเงินเท่าไหร่ ไม่กำหนดวันรับเงินแน่นอนหรือกำหนดวันรับเงินเกิน 50 วันนับตั้งแต่วันที่คู่กรณีได้ตกลงกัน หรือหากความเสียหายเลือกชดใช้เป็นอย่างอื่น ก็ไม่ระบุชัดเจน ว่าเป็นอะไร รับที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ ใด ๆ ไปเรื่อยไปเจื้อย แบบนี้ก็ไม่เอา
2. สั่งจ่ายเช็ค แต่เช็คดันไม่ระบุชื่อผู้รับชัดเจน หรือลงวันที่ล่วงหน้าเกินกว่าเวลาที่ควรจะเป็นในข้อ 1
3. เช็คที่ออกมาให้มันเด้ง ขึ้นเงินกับธนาคารไม่ได้ ก็นับนะ พีคคคค
4. มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกิดขึ้นเรื่องค่าสินไหม แต่ประกันไม่ทำตาม (สัญญาประนีประนอมยอมความ เดี๋ยวมาสอนวันหลังนะ เดี๋ยวยาว)
5. ประกันไม่ยอมจ่ายเรื่องใด ๆ ที่มีความชัดเจนในหน้ากรมธรรม์ อาทิ ไม่ยอมสำรองจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือค่าปลงศพ ที่ระบุไว้ชัด ๆ ว่าต้องจ่ายโดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิด เป็นต้น
6. บริษัทไม่จ่ายสินไหม ทำให้ผู้เอาประกันไปร้องต่อกรมการประกันภัย กรมการประกันภัยออกผลวินิจฉัย ต่อมาประกันก็ยังไม่ได้โต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษรใน 15 วันนับตั้งแต่ทราบผล และสุดท้ายยังไม่ยอมจ่ายอีก
7. ประกันเลือกวิธีชดใช้ด้วยการสั่งซ่อม แต่ไม่ซ่อมให้แล้วเสร็จใน 15 วันนับตั้งแต่เกิดความเสียหาย แต่อันนี้ละเว้นได้ถ้าได้รับความยินยอม
8. ประกันเลือกวิธีชดใช้ด้วยการสั่งซ่อมและบอกว่าจะเป็นคนจัดส่งอะไหล่ให้อู่ แต่ไม่ยอมส่งอะไหล่ให้อู่สักทีจนเลย 15 วันนับจากวันจ้างซ่อม
9. ประกันเลือกวิธีชดใช้ด้วยการสั่งซ่อม อู่ซ่อมเสร็จแล้ว แต่ประกันไม่ยอมจ่ายค่าซ่อมให้อู่ อู่ยึดรถไว้ตามสิทธิยึดหน่วงรถยนต์ตามกฎหมาย ทำให้ผู้เอาประกันไม่ได้รถคืน (ก็ไม่จ่ายอ่ะ อู่ที่ไหนจะคืนรถ สภาพพพ)
10. ถ้ารถหาย ผู้เอาประกันแจ้งความ ตำรวจรับการร้องทุกข์แล้ว ประกันไม่ยอมจ่ายเงินภายใน 15 วันนับตั้งแต่ได้รับแจ้งว่ารถหายจากผู้เอาประกัน
เป็นไงกันบ้าง ละเอียดหน่อย แต่ก็ถือเป็นความรู้นะ ว่าถ้าเจอเคสแบบไหน ถึงเข้าข่าย “ประวิงการจ่ายค่าสินไหม” บ้าง ถ้าเข้าข่ายก็จัดไป เรามีสิทธิ์ตามกฎหมายโดยชอบธรรม ซึ่งอันนี้เป็นสำหรับเคสของประกันภัยนะ ประกันชีวิต ก็จะเป็นอีกกฎหมายฉบับนึงแยกมาอีก ไว้ว่ากัน ถ้าใครสงสัย หลังไมค์เพิ่มเติมได้นะ