ประกันของเรา
บทความ
เกี่ยวกับ gettgo

ป่วยระหว่างเดินทางอยู่ที่ญี่ปุ่น ต้องทำอย่างไร ?

ป่วยระหว่างเดินทางอยู่ที่ญี่ปุ่น ต้องทำอย่างไร ?

 

เมื่อไม่นานมานี้ชาวไทยเพิ่งจะได้รับข่าวดีกันไปว่า ประเทศญี่ปุ่นเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว แน่นอนว่าแดนปลาดิบเป็นหนึ่งในประเทศที่คนไทยหลายคนคิดถึงกัน เพราะเที่ยวได้สนุก อาหารอร่อย ผู้คนน่ารัก มีสถานที่น่าเที่ยวชมมากมาย ทำให้คนไทยหลาย ๆ คนติดใจในการเที่ยวประเทศญี่ปุ่นมาก แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่ถึงแม้จะกำลังเอ็นจอยกับการท่องเที่ยวกันแค่ไหนก็หมดสนุกได้ นั่นก็คือ การเจ็บป่วยระหว่างเดินทาง แม้การเจ็บป่วยจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่อย่างน้อยก็ควรจะศึกษาเอาไว้ว่าหากไม่สบายที่ญี่ปุ่น เราจะหาที่พึ่งได้จากไหนบ้าง

ระบบรักษาพยาบาลของประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างไร

แต่ละประเทศย่อมมีระบบสาธารณสุขหรือระบบการรักษาพยาบาลที่แตกต่างกันออกไป บางประเทศจะเข้าร้านขายยาแต่ละครั้ง ก็จะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ หรือบางประเทศอย่างประเทศไทย หากซื้อยาสามัญทั่วไปก็สามารถเดินเข้าไปปรึกษาเภสัชกรได้เลย ที่ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก แต่อาจมีขั้นตอนที่แตกต่างจากประเทศไทยอยู่บ้าง

ร้านขายยา


หากใครเคยไปประเทศญี่ปุ่นก็คงจะเคยเห็นว่าบ้านเขามี “ร้านขายยา” อยู่เต็มไปหมด ซ้ำยังเป็นร้านขายยาที่มีพวกเครื่องสำอางหรือของใช้ต่าง ๆ วางขายด้วย ชาวญี่ปุ่นเรียกร้านเหล่านี้ว่าเป็น “Drug Store (ドラックストア)” ถ้าจะให้เทียบกับของประเทศไทย ก็คงจะเป็นร้านเครื่องสำอางที่มีเคาน์เตอร์ขายยาตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป สำหรับในญี่ปุ่นก็จัดเป็นร้านขายยา แต่จะขายยาสามัญซึ่งเป็นยาที่ไม่จำเป็นต้องใช้ใบรับรองแพทย์ แต่อาจต้องปรึกษาเภสัชกรประจำเคาน์เตอร์ในร้าน ยาแบบนี้จะเรียกว่า OTC (ย่อมาจาก Over The Counter) ก็คือซื้อผ่านเคาน์เตอร์เภสัชกรได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์หรือใบสั่งยา เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ยาแก้ท้องเสีย เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วยาพวกนี้จะออกฤทธิ์ครอบคลุมหลาย ๆ อาการ ฤทธิ์ไม่แรงมากนักจึงไม่เป็นอันตรายแม้ซื้อมากินเอง


ร้านขายยาอีกรูปแบบหนึ่งจะเป็นร้านขายยาจริง ๆ ซึ่งจะมีเภสัชกรประจำอยู่ และจำเป็นต้องใช้ใบรับรองแพทย์หรือใบสั่งยาจากโรงพยาบาลหรือคลินิกในญี่ปุ่น ยาที่ขายที่นี่จะเป็นยาที่ออกฤทธิ์เพื่อแก้อาการป่วยนั้น ๆ โดยเฉพาะ เช่น หากเป็นไข้ ก็จะเป็นยาสำหรับลดไข้โดยเฉพาะ มีอาการไอ ก็จะเป็นยาแก้ไอโดยเฉพาะ ฤทธิ์ของยาจะแรงกว่ายาสามัญ OTC ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์


การเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือคลินิก


ด้วยความที่เป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก ญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศที่มีสถานพยาบาลทั้งเล็กและใหญ่เข้าถึงได้ทุกพื้นที่ ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน นั่นคือ “โรงพยาบาลและ “คลินิก” การแบ่งแยกทำได้ง่าย ๆ โดยการดูจำนวนเตียง ตามกฎหมายญี่ปุ่นกำหนดให้โรงพยาบาลหมายถึงสถานพยาบาลที่มีเตียงรองรับผู้ป่วย 20 เตียงขึ้นไป ขณะที่คลินิกหมายถึงสถานพยาบาลที่มีเตียงรองรับผู้ป่วยน้อยกว่า 19 เตียงลงไป แต่ที่จริงแล้วยังมีความแตกต่างมากกว่านั้นที่เราควรรู้


โรงพยาบาล: จะแบ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก กลาง ไปจนถึงใหญ่ ขึ้นอยู่กับจำนวนเตียงหรือจำนวนผู้ป่วยที่รับได้ต่อวัน ให้บริการการรักษาที่ครอบคลุมมากกว่า มีทั้งแผนกฉุกเฉิน แผนกโรคเฉพาะทาง รวมถึงการผ่าตัด หรือการรักษาโรคที่ต้องนอนพักฟื้น ตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มักจะมีบริการล่ามแปลภาษาสำหรับผู้ป่วยต่างชาติด้วย หรือหากโรงพยาบาลขนาดเล็กหน่อยคุณหมออาจจะสื่อสารภาษาอังกฤษกับเราเอง ไม่ก็เน้นการอธิบายภาษาญี่ปุ่นที่เข้าใจง่ายแทน

คลินิก: ในประเทศญี่ปุ่นมักจะเป็นคลินิกเฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่งไปเลย เช่น คลินิกตา คลินิกกระดูก คลินิกทันตกรรม คนญี่ปุ่นที่มีอาการป่วยไม่ร้ายแรง เช่น เป็นหวัด มักจะไปเข้าคลินิกกันก่อนเป็นอันดับแรก หากแพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการรุนแรงถึงขั้นที่คลินิกธรรมดารักษาไม่ได้จึงจะแนะนำให้เข้าไปรักษาในโรงพยาบาล


สถานรักษาพยาบาลกับระบบจ่ายยาของญี่ปุ่นจะแยกกันอย่างเด็ดขาด ทั้งโรงพยาบาลและคลินิก เมื่อตรวจแล้วเราจะไม่ได้รับยาทันที เพราะแพทย์จะเป็นผู้ออกใบสั่งยาให้เรานำไปซื้อยาเองที่ร้านขายยาตามที่อธิบายไปข้างต้น ร้านขายยาที่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งยานี้มักจะถามเราในตอนซื้อเสมอว่า “มีคู่มือยาประจำตัวหรือไม่” คู่มือยาประจำตัวนี้ จะเป็นสมุดบันทึกประวัติการใช้ยาของเราว่าได้รับยาชนิดไหนไปแล้วบ้าง เพื่อป้องกันการจ่ายยาซ้ำซ้อนจนอาจเกิดการบริโภคยาเกินขนาดขึ้นมาได้ และยังรวมถึงประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ หากใครเพิ่งเคยมาซื้อยาครั้งแรก เภสัชกรก็จะนำสมุดนี้ให้เราพร้อมบันทึกยาที่เรามาซื้อซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจ่ายยาครั้งต่อไป


รถฉุกเฉิน

หากเกิดกรณีฉุกเฉินที่เราจะต้องเรียกรถพยาบาลมารับในญี่ปุ่น สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 119 ซึ่งจะเป็นเบอร์ของสถานีดับเพลิงของญี่ปุ่นในพื้นที่ต่าง ๆ สถานีดับเพลิงที่ญี่ปุ่นจะให้บริการทั้งเหตุไฟไหม้ และกรณีฉุกเฉิน เช่น รถพยาบาล ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ สำหรับการโทรติดต่อนั้น สามารถใช้โทรศัพท์มือถือของเราเอง หรือโทรศัพท์สาธารณะก็ได้ สำหรับโทรศัพท์สาธารณะเราสามารถกดปุ่มสีแดงซึ่งมีไว้สำหรับติดต่อกรณีฉุกเฉินได้เลย หรือหากไม่มีก็กด 119 ได้ทันทีโดยไม่ต้องหยอดเหรียญ

ข้อมูลที่ต้องเตรียมเมื่อติดต่อกรณีฉุกเฉิน

  • แจ้งว่าเป็นเหตุไฟไหม้ หรือกรณีฉุกเฉิน
  • สถานที่ที่เกิดเหตุ เขตไหน จังหวัดอะไร จุดเด่นของสถานที่มีอะไรบ้าง
  • แจ้งเหตุการณ์คร่าว ๆ เช่น อุบัติเหตุรถชน หกล้ม เป็นต้น
  • บอกชื่อ และช่องทางให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ

เมื่อโทรแจ้งรถฉุกเฉินแล้ว สิ่งที่ต้องเตรียมมีดังนี้

  • หนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต
  • ยาประจำตัว (หากมี)
  • เงิน หรือบัตรเครดิตสำหรับจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ค่าใช้จ่ายโดยประมาณหากต้องเข้ารับการรักษาที่ประเทศญี่ปุ่น

หลายคนคงจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่าค่ารักษาพยาบาลในญี่ปุ่นแพงเอาเรื่อง ในกรณีที่เป็นชาวญี่ปุ่นหรือเป็นผู้ที่พำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ทุกคนจะได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันสังคมของญี่ปุ่น โดยรัฐจะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ 70% นั่นหมายความว่าผู้ป่วยรับผิดชอบเอง 30% ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระได้มาก ยิ่งอายุมาก ภาระที่ต้องจ่ายก็ยิ่งน้อยลงไปอีก ขณะที่นักท่องเที่ยวอย่างเรา ๆ เมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด 100%

สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคเพียงอย่างเดียว ประเทศญี่ปุ่นจะมีระบบประเมินค่ารักษาพยาบาลเป็น “คะแนน” ซึ่งเราจะนำคะแนนนี้ไปใช้คำนวณค่าวินิจฉัยที่ต้องจ่าย โดย 1 คะแนน = 10 เยน

  • สำหรับการตรวจวินิจฉัยครั้งแรก ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกจะมีคะแนนพื้นฐานอยู่ที่ 288 คะแนน ทั้งนี้อาจมีการบวกเพิ่มแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการรักษาในเวลาหรือนอกเวลา หรืออายุของผู้ป่วย
  • สำหรับการตรวจวินิจฉัยครั้งต่อไป คลินิกหรือโรงพยาบาลน้อยกว่า 200 เตียงจะอยู่ที่ 73 คะแนน หากเป็นโรงพยาบาลมากกว่า 200 เตียงจะอยู่ที่ 74 คะแนน

เราจะใช้คะแนนเหล่านี้มาคำนวณตามสูตร คะแนน × 10 เยน × เปอร์เซ็นต์ค่ารักษาที่ต้องจ่ายเอง (100% คือ 1) = ค่าวินิจฉัยที่เราต้องจ่าย

เช่น ในกรณีชาวต่างชาติที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด จะได้ว่า 288 คะแนน × 10 × 1 = 2,880 เยน หรือประมาณ 750 บาท อย่าลืมว่านี่ยังไม่รวมถึงค่ารักษาพยาบาลจริง ๆ ซึ่งอาจแพงถึง 10,000-50,000 เยน หรือประมาณ 2,500-13,000 บาท และค่ายาที่เราต้องไปซื้อเอาเองซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,000 - 2,000 เยน หรือประมาณ 300-600 บาทแล้วแต่การสั่งยาของแพทย์ด้วย หากเราป่วยเป็นโรคไม่ร้ายแรงนัก ค่าตรวจโรคอาจจะไม่ต่างไปจากนี้มาก แต่หากป่วยเป็นโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หรืออาการร้ายแรงที่ต้องใช้ห้องพักฟื้นซึ่งก็ต้องคิดตามจำนวนวันที่เราเข้ารักษาพยาบาล ราคาก็จะยิ่งสูงมากขึ้นกว่านี้อีก

อย่างในกรณีการป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบแล้วต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 6-7 วัน จากข้อมูลของ Japan Medical Association เราอาจจะต้องเสียเงินถึง 300,000 เยน หรือประมาณ 78,000 บาท เลยทีเดียว


ต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดเจ็บป่วยระหว่างเดินทางในประเทศญี่ปุ่น

แน่นอนว่าอาการเจ็บป่วยหรือเหตุฉุกเฉินมักมาแบบไม่บอกไม่กล่าว ดังนั้นเราควรเตรียมการรับมือเอาไว้แต่เนิ่น ๆ

 

เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับโรคประจำตัวหรือยาที่แพ้ตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง


เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นขณะไปเที่ยว การเตรียมข้อมูลสุขภาพของตัวเองเอาไว้แต่เนิ่น ๆ จะช่วยอำนวยความสะดวกและมีความเข้าใจที่ตรงกันหากต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในญี่ปุ่น แนะนำให้กรอกแบบฟอร์มขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) เกี่ยวกับประวัติการรักษาพยาบาล เอาไว้ล่วงหน้า ในนั้นเราสามารถบอกได้ว่าเราเคยป่วยอะไรมา มียาประจำตัวหรือไม่ ตั้งครรภ์อยู่หรือเปล่า รวมถึงยังมีให้กรอกภาษาที่ต้องการใช้สื่อสารกับแพทย์หากต้องเข้ารักษาตัวในญี่ปุ่นอีกด้วย


ศึกษาสถานพยาบาลที่สามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้


การเข้ารับการรักษาที่ต่างบ้านต่างเมือง สิ่งที่เป็นปัญหาคือเรื่องกำแพงภาษา แต่ก็มีสถานพยาบาลในญี่ปุ่นไม่น้อยที่มีล่ามซึ่งสามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ เช่น ภาษาอังกฤษ หรือแม้แต่ภาษาไทย ทาง JNTO ก็ได้รวบรวมลิสต์รายชื่อโรงพยาบาลที่รับชาวต่างชาติเอาไว้ด้วย เราสามารถเลือกได้ตามพื้นที่ที่เราไปเที่ยวได้เลย นอกจากนี้ยังสามารถสอบถามได้จากโรงแรมที่พัก หรือศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวก็ได้เช่นกัน


หากเกิดเหตุฉุกเฉินจริง ๆ ให้ติดต่อ 119


เมื่อเกิดเจ็บป่วยจนต้องเรียกรถพยาบาล ให้รีบติดต่อไปยัง 119 โดยด่วนเพื่อที่เราจะได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที แน่นอนว่าทางเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จึงหมดกังวลเรื่องภาษา


ประกันเดินทางเป็นสิ่งจำเป็น


ไม่ว่าจะเดินทางไปประเทศไหน ระยะสั้นหรือระยะยาว ประกันเดินทางถือว่าจำเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยคุ้มครองทั้งความเสียหายอันเกิดจากไฟล์ทบินล่าช้าหรือถูกยกเลิก ทรัพย์สินเสียหาย และแน่นอนว่ารวมถึงค่ารักษาพยาบาลด้วย สามารถทำได้ทั้งแบบระยะสั้น สำหรับผู้ที่เดินทางไม่กี่ครั้งต่อปี หรือแบบระยะยาว สำหรับผู้เดินทางหลายครั้งต่อปี แน่นอนว่าเมื่อเห็นค่ารักษาพยาบาลที่สูงมากในประเทศญี่ปุ่นแล้ว การทำประกันเดินทางเอาไว้จะช่วยแบ่งเบาภาระได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งเรายังสามารถปรึกษาเรื่องการรักษาจากบริษัทประกันได้ด้วยว่าควรเข้ารักษาที่สถานพยาบาลแบบไหนอย่างไร

เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยดูจะไกลตัวแต่ก็ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เราควรศึกษาการรักษาพยาบาลรวมถึงค่ารักษาพยาบาลในประเทศนั้น ๆ เอาไว้แต่เนิ่น ๆ และควรทำประกันเดินทางติดตัวเอาไว้เสมอเพื่อความอุ่นใจหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

บทความที่คุณอาจสนใจ

อัปเดตล่าสุด ! ประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่า สำหรับผู้ถือพาสปอร์ตไทย
ประกันเดินทาง รับประกันถึงอายุเท่าไหร่
ดื่มกาแฟแบบมีจริต กับวัฒนธรรมการดื่มกาแฟจาก 5 ประเทศ
ความคุ้มครอง ประกันชั้น 1 ประกันชั้น 2+ ประกันชั้น 2 คุ้มครองเฉพาะคู่กรณี ประกันชั้น 3+ ประกันชั้น 3 คุ้มครองเฉพาะคู่กรณี
รถชน(ไม่มีคู่กรณี)
รถชน(มีคู่กรณี)
ค่ารักษาพยาบาล
รถยนต์สูญหาย
ไฟไหม้
น้ำท่วม

เข้าสู่ระบบ

หากยังไม่มีบัญชีผู้ใช้ กรุณา สมัครสมาชิก

 

สมัครสมาชิก

หากเป็นสมาชิกอยู่แล้วกรุณา ลงชื่อเข้าใช้งาน

Loading..

กำลังดำเนินการ กรุณารอสักครู่ค่ะ 😊