สำหรับนักเดินทางทุกคนไม่ว่าจะแบกเป้ลุยเดี่ยว ควงแขนไปกับคนรัก เฮฮาไปกับก๊วนเพื่อน หรือยกครอบครัวไปชิล ล้วนพกความสุข รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะกันไปเต็มหัวใจ คงไม่มีใครอยากเจ็บป่วยหรือเจออุบัติเหตุระหว่างทางแน่นอน ก่อนออกเดินทางก็ไม่ลืมสวดมนต์ขอพรให้รอดปลอดภัย อันตรายใด ๆ อย่าได้แผ้วพาน สาธุ… แต่ใครจะรู้ล่วงหน้าว่าเรื่องร้ายจะเข้ามาทักทายเราตอนไหน ยิ่งอยู่ต่างบ้านต่างเมืองที่ไม่คุ้นกับสถานที่ ไม่รู้จักเส้นทาง และมีข้อจำกัดทางภาษาด้วยแล้ว หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับตัวเองหรือเพื่อนร่วมทริป คงมืดแปดด้าน ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร เพราะฉะนั้นก่อนจะออกเดินทางท่องโลกกว้าง เพื่อความไม่ประมาท ตามมาดูวิธีรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อมีอาการเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุในต่างแดนกันดีกว่าครับ
วิธีรับมือเมื่อเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บกะทันหันในต่างแดน
- หากระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวอย่างเพลิดเพลิน คุณหรือเพื่อนร่วมทริปเกิดเจ็บป่วยหรือเจออุบัติเหตุไม่คาดฝันแล้วล่ะก็ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ‘ตั้งสติให้มั่น’ หลายคนเมื่อเกิดเรื่องร้ายกับตัวเองจะเกิดอาการสติแตก วิตกกังวล และลนลานจนทำอะไรไม่ถูก ซึ่งอาจจะส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ลองสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ออกยาว ๆ ตั้งสติแล้วสำรวจอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นด้วยตัวเองเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาก่อน
- หากมีอาการเจ็บป่วยทั่วไป เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ท้องเสีย ลมพิษ ฯลฯ หรือเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย เช่น ฟกช้ำ ข้อเท้าแพลง เข่าถลอก น้ำร้อนลวก ฯลฯ ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นหรือรับประทานยาที่เตรียมมาจากบ้านก่อน จากนั้นสังเกตอาการต่อเนื่อง 24 ชม. ถ้าไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิม ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้เคียง
- ในกรณีที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บร้ายแรง ให้เพื่อนร่วมทริปรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที แต่ถ้าคุณมาคนเดียวหรือเพื่อนร่วมทางก็ไม่คุ้นเคยกับประเทศนั้น ๆ ให้ขอความช่วยเหลือจากโรมแรม คนท้องถิ่น สถานทูต หรือบริษัทประกันเดินทาง เพื่อสอบถามเส้นทางของโรงพยาบาลหรือเรียกรถพยาบาลกรณีฉุกเฉิน
- ถ้าต้องแอดมิท ผ่าตัดฉุกเฉิน เคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือมีปัญหาเรื่องภาษา ให้ติดต่อสถานทูตไทยหรือบริษัทประกันเดินทาง เพื่อขอความช่วยเหลือในการสื่อสารและประสานงานกับทางโรงพยาบาลและแพทย์
- สำหรับคนที่ทำประกันเดินทางไว้ สามารถเคลมประกันได้ด้วยกัน 2 วิธี คือ
1. สำรองจ่ายและนำเอกสารใบเสร็จค่ารักษาตัวจริง และใบรับรองแพทย์ กลับมาเบิกค่าสินไหมได้
2. หากกรณีที่ค่าใช้จ่ายสูง ต้องการความช่วยเหลือ ก็สามารถติดต่อศูนย์ช่วยเหลือได้
ข้อแนะนำเพิ่มความอุ่นใจก่อนออกเดินทาง
- เตรียมยาไปให้พร้อม ทั้งยาสามัญและยาโรคประจำตัว อย่าคิดไปหวังพึ่งน้ำบ่อหน้าเด็ดขาด เพราะบางประเทศต้องมีใบรับรองจากแพทย์เท่านั้นถึงจะซื้อยาได้นะครับ
- หากมียาโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานทุกวัน ให้ตรวจสอบกฎหมายระหว่างประเทศในการนำเข้ายาให้แน่ใจเสียก่อน ทางที่ดีควรมีใบรับรองแพทย์พกติดตัวไปด้วย
- ก่อนเดินทางอย่างลืมจดหรือบันทึกเบอร์สถานทูต เบอร์ฉุกเฉินของประเทศปลายทาง และเบอร์ฮอตไลน์ประกันเดินทาง หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะได้ขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
- ทำประกันเดินทางเพื่อความอุ่นใจ หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ 24 ชม. และเป็นการลดภาระเรื่องค่าให้จ่ายแสนแพงหากต้องเข้ารับการรักษาในต่างประเทศ
เรื่องของความเจ็บป่วยและอุบัติเหตุเป็นเรื่องใกล้ตัวที่นักเดินทางทุกคนไม่ควรมองข้าม ต่อให้คุณมีร่างกายมีฟิตปั๋งแค่ไหน ก็ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยง สภาพอากาศและอาหารที่ไม่คุ้นเคยในต่างประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจ็บป่วย ไหนจะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่มุมไหนในโลก ดังนั้น เพื่อให้ช่วงเวลาแห่งความสุขไม่สะดุดทุกสถานการณ์ นอกจากจะพกยาสามัญติดกระเป๋าไปแล้ว ประกันเดินทางคืออีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยให้อุ่นใจ ไม่ต้องกังวลกับค่ารักษาในต่างประเทศที่แพงหูฉี่ และหากคุณหรือเพื่อนร่วมทริปเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บระหว่างทาง อย่าลืมนำวิธีการรับมือง่าย ๆ ที่ผมนำมาฝากไปใช้กันนะครับ