ประกันของเรา
บทความ
เกี่ยวกับ gettgo

ประกันสุขภาพ ลดหย่อนภาษี เลือกอย่างไรในปี 2565

ประกันสุขภาพ ลดหย่อนภาษี เลือกอย่างไรในปี 2565

เมื่อปีเก่ากำลังจะผ่านไป ปีใหม่กำลังจะเข้ามา นอกจากเทศกาลคริสต์มาส หรือการเฉลิมฉลองปีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่กำลังรอคอยทุกคนอยู่ในปีถัดไปก็คือ “เทศกาลการเสียภาษี” หลายคนน่าจะต้องเริ่มเตรียมยื่นภาษีกันแล้ว รวมถึงต้องมาดูด้วยว่าเราสามารถลดหย่อนภาษีอย่างไรได้บ้าง ซึ่งวิธีหนึ่งในนั้นก็มีประกันสุขภาพที่เราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วย แต่ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นกันก่อนว่า การลดหย่อนภาษีนั้นคืออะไร

นโยบาย ข้อบังคับ เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี

ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี อัตราการเก็บภาษีของประเทศไทยนั้นจะใช้วิธีคำนวณตามรายได้แบบขั้นบันได กล่าวคือประชาชนทุกคนที่มีรายได้สุทธิต่อปี 150,001 บาทขึ้นไปต้องจ่ายภาษีให้กับกรมสรรพากร หากรายได้สุทธิน้อยกว่านี้ก็นับว่ายังอยู่เกณฑ์ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่

คำว่ารายได้สุทธิจะต่างจากคำว่ารายได้ธรรมดาตรงที่ เงินได้สุทธิ = เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน นั่นหมายความว่า การจะรู้ว่าแต่ละปี เราต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่ ไม่ได้คำนวณแค่จากรายได้ที่เราได้รับมาในแต่ละเดือน เพราะกรมสรรพากรเขายังมอบ “ค่าลดหย่อน” ให้เรารับภาระภาษีน้อยลงด้วย ดังนั้น แม้ว่ารายได้ต่อปีของเราจะเกิน 150,001 บาท แต่เมื่อนำมาคำนวณหักลบค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้วปรากฏว่ามีรายได้สุทธิไม่ถึง 150,001 บาท นั่นเท่ากับว่าเราได้รับการยกเว้นภาษี

อะไรบ้างที่สามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้

รัฐบาลจะกำหนดเกณฑ์ “การลดหย่อนภาษี” ซึ่งเป็นตัวช่วยแบ่งเบาภาระการเสียภาษีให้กับประชาชนในแต่ละปี สำหรับปี 2565 นี้ ทางกรมสรรพากรก็ได้กำหนดเกณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ แบ่งเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ๆ 

1. สิทธิ์ลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

a. ค่าลดหย่อนส่วนตัว – 60,000 บาท
b. ค่าลดหย่อนคู่สมรส – 60,000 บาท
c. ค่าลดหย่อนบุตร – 30,000 บาท สำหรับลูกคนแรก และ 60,000 บาท สำหรับลูกคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
d. ค่าลดหย่อนบิดามารดา คนละ 30,000 บาท
e. ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ – 60,000 บาทต่อคน
f. ค่าฝากครรภ์และทำคลอดไม่เกินท้องละ 60,000 บาท

2. สิทธิ์ลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุ

a. ประกันชีวิตแบบบำนาญ – 15% ของเงินได้ สูงสุด 200,000 บาท
b. กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน – 15% ของรายได้แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
c. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF – 30% ของรายได้แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
d. กองทุนการออมแห่งชาติ กอช. – ไม่เกิน 13,200 ต่อปี 
e. กองทุนรวมเพื่อการออม SSF – 30% ของรายได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
f. เงินประกันสังคม – ตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 6,300 บาท

3. สิทธิ์ลดหย่อนจากมาตรการรัฐ

a. ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย – สูงสุด 100,000 บาท
b. ช้อปดีมีคืน ได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน 30,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)
c. เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละไม่เกิน 100,000 บาท

4. สิทธิ์ลดหย่อนจากการบริจาค

a. บริจาคทั่วไป – 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อนแล้ว
b. บริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ – ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อนแล้ว
c. เงินบริจาคพรรคการเมือง – สูงสุด 10,000 บาท

5. สิทธิ์ลดหย่อนจากเบี้ยประกัน

a. ประกันชีวิตทั่วไปและประกันสะสมทรัพย์ – สูงสุด 100,000 บาท ตามที่จ่ายจริง
b. ประกันสุขภาพบิดามารดา สูงสุด 30,000 บาท ตามที่จ่ายจริง
c. ประกันสุขภาพตัวเอง สูงสุด 25,000 บาท ตามที่จ่ายจริง

การที่รัฐมอบค่าลดหย่อนให้กับอะไรนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐต้องการกระตุ้นให้คนไปใช้จ่ายในส่วนนั้น หนึ่งในนั้นก็คือ “ประกันสุขภาพ” เพราะสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีโรคอุบัติใหม่ และค่ารักษาพยาบาลก็แพงขึ้นอย่างมาก หลายคนจึงเลือกที่จะซื้อประกันสุขภาพติดตัวเอาไว้เพื่อความอุ่นใจ และยังนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย


ประกันสุขภาพ ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร

ประกันสุขภาพที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ในประเทศไทย มีทั้งประกันสุขภาพของตัวเราเอง และประกันสุขภาพที่ซื้อให้บิดามารดา / คู่สมรส

กรณีประกันสุขภาพสำหรับตัวเราเอง

- หากซื้อประกันสุขภาพอย่างเดียว สามารถนำมาลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายตามจริงได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท
- หากซื้อประกันสุขภาพร่วมกับประกันชีวิต / เงินฝากแบบมีประกันชีวิต สามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี

กรณีประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดาที่มีรายได้คนละไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี / คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้

- หากซื้อประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดาที่มีรายได้คนละไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจริงคนละไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งได้ทั้งพ่อ 15,000 บาท และแม่ 15,000 บาท นั่นหมายความว่า หากเรามีทั้งบิดาและมารดาอยู่ครบ จะสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 30,000 บาทต่อปีเลยทีเดียว แต่ถ้าหากเรามีพี่น้องที่ร่วมกันหารจ่ายค่าเบี้ยประกัน ก็ต้องนำเบี้ยประกันมาหาร เช่น ค่าเบี้ยประกันรวมของบิดามารดาคือ 15,000 บาท แต่มีพี่น้อง 2 คนซึ่งช่วยกันจ่ายคนละ 7,500 บาท เท่ากับว่าแต่ละคนสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เพียง 7,500 บาท ไม่ใช่จำนวนเต็มของเบี้ยประกันที่จ่ายไป
- หากซื้อประกันสุขภาพให้คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เช่นเดียวกัน

โดยเงื่อนไขประกันสุขภาพที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ มีดังนี้

1. ต้องเป็นการทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันในประเทศไทยเท่านั้น
2. ต้องเป็นประกันที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
3. ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ การแตกหักของกระดูก
4. ประกันภัยโรคที่ร้ายแรง (Critical Illnesses) 
5. ประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

สำหรับวิธีการขอลดหย่อนภาษีโดยใช้สิทธิ์จากการจ่ายเบี้ยประกันนั้น เราจะต้องขอ “เอกสารรับรองการชำระเบี้ยประกันสุขภาพ” จากบริษัทประกันมาแนบกับแบบการจ่ายภาษีด้วยทุกครั้ง ซึ่งในเอกสารนี้จะระบุข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่เอาประกัน ข้อมูลของบริษัทประกัน รวมถึงจำนวนเบี้ยประกันที่เราได้จ่ายไป และยังบอกอีกด้วยว่าเราจะได้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้เท่าไหร่


ทำไมการซื้อประกันสุขภาพ เพื่อลดหย่อนภาษีถึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

1. อุ่นใจในการเตรียมวางแผนการเงิน

แม้วันนี้จะยังไม่เจ็บป่วย แต่การทำประกันสุขภาพไว้แต่เนิ่น ๆ นอกจากเราจะได้จ่ายเบี้ยที่ถูกกว่าแล้ว เรายังรู้ด้วยว่า หากเจ็บป่วยขึ้นมา อย่างน้อยยังมีเงินจากประกันสุขภาพนี้มารองรับ หรืออาจเป็นการทำเพื่อเสริมสวัสดิการด้านสุขภาพเดิมที่ยังไม่ครอบคลุมเท่าไหร่ การมีประกันสุขภาพติดตัวไว้ ไม่ว่าจะคุณหรือครอบครัวก็หมดกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นหากเจ็บป่วยไปได้เลย

2. อุ่นใจเมื่อต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล

ประกันสุขภาพจะคุ้มครองทั้งค่าห้อง ค่ายา ค่าแพทย์ ค่าผ่าตัด รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของเราลงไปได้มาก ขณะที่หากเราไม่ได้ทำประกันสุขภาพเอาไว้ คนที่ต้องมารับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเหล่านี้ทั้งหมดก็คือเราหรือคนในครอบครัวของเราเอง

3. อุ่นใจทุกครั้งที่ต้องเสียภาษีเงินได้

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า การทำประกันสุขภาพ นอกจากจะช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของเราในต่อที่ 1 แล้ว ในต่อที่ 2 เรายังจะได้รับการลดหย่อนภาษีจากการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพตามจริง การลดหย่อนนี้จะมีผลต่อการคำนวณรายได้สุทธิที่จะเอาไปใช้คำนวณอัตราภาษี ช่วยให้เราจ่ายภาษีลดลง สามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ได้อีก

การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของประชาชน แต่ดีที่รัฐบาลก็ยังช่วยแบ่งเบาภาระด้วยการกำหนดเกณฑ์ “การลดหย่อนภาษี” ให้เราจ่ายภาษีน้อยลง หนึ่งในวิธีที่คนนิยมใช้เพื่อการลดหย่อนภาษี ก็คือ “การซื้อประกันสุขภาพ” เพราะนอกจากจะได้ทั้งความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังสามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริงอีกด้วย ดังนั้น หากใครกำลังมองหาช่องการแบ่งเบาภาระด้านภาษีอยู่ล่ะก็ การซื้อประกันสุขภาพสักแผนที่ตอบโจทย์เราหรือคนที่เรารักจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก ๆ 

บทความที่คุณอาจสนใจ

ป่วยหนักก็เอา ป่วยเบาก็สู้ Precious CARE 6 แผน คุ้มครอง "ล้ำค่า" ด้านไหนบ้าง ?
ประกันสุขภาพเหมาจ่าย “เหมาจริง” หรือ “เหมาหลอก” ?
คำถามแรกเมื่อคุณถึง รพ.  “คุณมีประกันรึป่าวคะ ?”
ความคุ้มครอง ประกันชั้น 1 ประกันชั้น 2+ ประกันชั้น 2 คุ้มครองเฉพาะคู่กรณี ประกันชั้น 3+ ประกันชั้น 3 คุ้มครองเฉพาะคู่กรณี
รถชน(ไม่มีคู่กรณี)
รถชน(มีคู่กรณี)
ค่ารักษาพยาบาล
รถยนต์สูญหาย
ไฟไหม้
น้ำท่วม

เข้าสู่ระบบ

หากยังไม่มีบัญชีผู้ใช้ กรุณา สมัครสมาชิก

 

สมัครสมาชิก

หากเป็นสมาชิกอยู่แล้วกรุณา ลงชื่อเข้าใช้งาน

Loading..

กำลังดำเนินการ กรุณารอสักครู่ค่ะ 😊