ประกันอุบัติเหตุ คืออะไร ?
ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือประกัน PA (Personal Accident Insurance) คือประเภทหนึ่งของประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองในกรณีที่คุณเกิดอุบัติเหตุ ได้รับความบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เป็นผลให้คุณต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล และยังคุ้มครองรวมไปถึงการสูญเสียอวัยวะหรือความทุพพลภาพถาวรในรูปแบบของการจ่ายเงินทดแทนความคุ้มครองเหล่านี้ และในชีวิตหนึ่ง คุณสามารถประสบอุบัติเหตุเมื่อไหร่ก็ได้แบบไม่คาดฝัน จึงทำให้การมีประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลเข้ามาช่วยทำให้คุณอุ่นใจ ว่าไม่ว่าคุณจะได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุใด ๆ ก็จะสามารถมีเงินมาช่วยค่ารักษาพยาบาลได้ หรือถ้าหากทุพพลภาพหรือเสียชีวิต คนที่อยู่ข้างหลังก็ยังสามารถดำเนินชีวิตต่อได้ ด้วยเงินชดเชยจากประกันที่ทำให้สถานะทางการเงินไม่สั่นคลอนครับ
การทำประกันอุบัติเหตุ ได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง ?
ประกัน PA จะคุ้มครองตลอด 24 ชั่วโมงในกรณีที่คุณประสบอุบัติเหตุและบริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้ โดยมีความคุ้มครองหลักในกรณีต่อไปนี้:
1. การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จนไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานใด ๆ ตลอดไป โดยการทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจะรวมถึง การสูญเสียสายตาจนตาบอดสนิทตลอดไป และการสูญเสียมือหรือเท้าตั้งแต่ข้อมือหรือข้อเท้าเป็นต้นไป
2. การทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง: หมายถึงเมื่อคุณประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถทำงานในอาชีพของตัวเองได้สิ้นเชิงในระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง เช่น คุณอาจประสบอุบัติเหตุจนมีอาการโคม่า ไม่สามารถทำงานได้จนกว่าจะฟื้นตื่นขึ้นมา
3. การทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน: หมายถึงการที่คุณประสบอุบัติเหตุจนทำให้มีอุปสรรคในการปฏิบัติงานตามอาชีพของตนชั่วคราว เช่น สมมติคุณฟื้นคืนจากโคม่า แต่ยังต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล และสามารถทำงานได้บางส่วนบ้างแล้ว
4. ค่ารักษาพยาบาล
ประกันอุบัติเหตุ แบบ อบ.1 กับ อบ.2 แตกต่างกันอย่างไร ?
ประกัน PA จะแบ่งความคุ้มครองออกเป็น 2 ประเภท นั่นก็คือ แบบ อบ.1 กับ อบ.2 โดยมีความแตกต่างกันดังนี้ครับ:
1. แบบ อบ.1 จะเป็นแบบประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่ให้ความคุ้มครองพื้นฐานอย่างที่ได้กล่าวไปในคำถามข้อ 2 นั่นก็คือ คุ้มครองการเสียชีวิต คุ้มครองการสูญเสียอวัยวะหรือสายตา คุ้มครองการทุพพลภาพ และคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล โดยทั้งหมดนี้ต้องมีสาเหตุมาจากการเกิดอุบัติเหตุ
2. แบบ อบ.2 จะเป็นประกันที่มีความคุ้มครองเสริมขึ้นมาจากแบบ อบ. 1 นั่นก็คือ คุ้มครองเพิ่มเติมการสูญเสียนิ้ว การสูญเสียการรับฟังเสียง/การพูดออกเสียง และการทุพพลภาพถาวรบางส่วน อันหมายถึง การเกิดทุพพลภาพที่ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพประจำตามปกติได้ตลอดไป แต่ยังสามารถเปลี่ยนไปทำงานอื่นเพื่อหารายได้อยู่ได้ เช่น ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุจนสูญเสียความสามารถในการมองเห็นแต่ไม่ถึงขั้นตาบอด ก็จะถือว่าเป็นการทุพพลภาพถาวรบางส่วนครับ
ประกันอุบัติเหตุ คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลด้วยหรือไม่ ?
คุ้มครองครับ แต่ว่าประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลจะคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเฉพาะที่เป็นผลมาจากการเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น และจะไม่คุ้มครองการรักษาพยาบาลที่เกิดจากอาการเจ็บป่วยหรืออาการบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุแต่อย่างใดครับ
ประกันอุบัติเหตุ เหมาะกับใคร ?
ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ถือว่าเป็นประกันที่เหมาะสำหรับใครที่กังวลเรื่องความมั่นคงทางการเงิน หากคุณต้องสูญเสียรายได้จากการบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือทุพพลภาพ เมื่อเกิดอุบัติเหตุซึ่งคาดเดาไม่ได้ การมีประกันตัวนี้ติดเอาไว้ก็จะทำให้คุณอุ่นใจได้มากขึ้น ว่าทั้งตัวคุณเองและคนข้างหลังยังมีแผนสำรองเอาไว้ในวันที่ไม่เป็นใจ ทำให้ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ถ้าหากมีความพร้อม ก็ควรซื้อประกันอุบัติเหตุติดเอาไว้จะดีที่สุดครับ และยิ่งถ้าหากคุณประกอบอาชีพที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าแล้วด้วยนั้น การมีประกัน อุบัติเหตุส่วนบุคคลติดเอาไว้ก็ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากๆเลยล่ะครับ
ประกันอุบัติเหตุ ทำได้กับคนทุกวัย ทุกอาชีพหรือไม่ ?
สามารถทำได้ครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อกำหนดและเงื่อนไขต่าง ๆ ในแต่ละแผนประกันจะแตกต่างกันไป ว่าสามารถรับประกันในเงื่อนไขนั้น ๆ ได้หรือไม่โดยทั่วไป ประกันภัยมักกำหนดเกณฑ์อายุเอาไว้ที่ 16-60 ปี แต่ถ้าหากอายุต่ำกว่าหรือเกินกว่านั้น ก็อาจจะต้องทำประกัน PA สำหรับเด็กหรือผู้สูงอายุที่มีราคาสูงกว่าก็ได้ครับ และในการทำประกัน PA คุณก็จะต้องสำรวจชั้นอาชีพของคุณก่อนว่าอยู่ในระดับความเสี่ยงใด โดยแบ่งชั้นอาชีพเป็น 4 ชั้น ดังนี้ครับ:
1. อาชีพชั้น 1: เช่น อาชีพทำงานประจำในสำนักงานซึ่งมีความเสี่ยงภัยต่ำที่สุด ก็จะมีเบี้ยประกันภัยที่ต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ เช่น ผู้บริหาร พนักงานบริษัท แพทย์ เภสัชกร พยาบาล ข้าราชการ เป็นต้น
2. อาชีพชั้น 2: หรือการปฏิบัติงานที่ใช้วิชาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งหรือต้องออกตรวจงาน รวมถึงผู้ที่ทำงานในสำนักงานที่ต้องใช้กำลังบ้าง เช่น ตัวแทน/นายหน้า วิศวกร ช่างไม้ เจ้าของกิจการขนาดเล็ก เป็นต้น
3. อาชีพชั้น 3: หรือการปฏิบัติงานด้านงานช่าง กระบวนการผลิต มีการเดินทาง มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก ทำงานนอกสำนักงาน หรือผู้ใช้แรงงาน เช่น ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านช่าง ด้านการผลิต การขนส่ง พนักงานขาย นักแสดง มัคคุเทศก์ นักข่าว พนักงานขับรถ เป็นต้น
4. อาชีพชั้น 4: คืออาชีพพิเศษที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าชนิดอื่นๆ เช่น นักแสดงผาดโผน คนงานก่อสร้าง พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานรับส่งเอกสาร เป็นต้น
โดยในอาชีพชั้น 3 และชั้น 4 ประกัน PA หลากหลายตัวก็มักจะไม่รับประกันภัย หรือถ้ารับประกันภัยก็จะมีค่าเบี้ยประกันที่สูงกว่าประกัน PA ในอาชีพชั้นอื่น ๆครับ
ค่าเบี้ยประกันอุบัติเหตุ มีราคาประมาณเท่าไหร่ ?
ราคาของการซื้อประกัน PA มักขึ้นกับปัจจัยในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยหลาย ๆ อย่าง โดยประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลจะมีราคาที่สูงกว่าการทำประกันภัยแบบกลุ่ม และต้องดูปัจจัยที่กำหนดราคาเบี้ยประกันต่าง ๆ ประกอบกัน ดังนี้ครับ:
- ชั้นอาชีพ: โดยถ้าคุณทำงานอยู่ในอาชีพชั้น 3 และชั้น 4 ก็จะต้องซื้อแผนประกัน PA ที่รับคุ้มครองในอาชีพทั้ง 2 ชั้นนี้ และอาจต้องจ่ายเบี้ยประกันที่แพงขึ้นไปอีกครับ
- อายุ: โดยยิ่งมีอายุมากขึ้น ก็จะมีสภาพความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาเบี้ยประกันเพิ่มสูงตามครับ
- ความคุ้มครองที่เลือกซื้อ: ว่าเป็นประเภท อบ.1 หรือ อบ.2 หรือเลือกซื้อความคุ้มครองเฉพาะบางอย่างได้ เช่น ต้องการเฉพาะความคุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะและทุพพลภาพโดยที่ไม่เอาความคุ้มครองรักษาพยาบาลก็ทำได้ เพื่อเป็นการลดค่าเบี้ยประกันให้ถูกลงครับ
- ความคุ้มครองเพิ่มเติม: คือการขอขยายความคุ้มครองไปถึงเงื่อนไขที่มีการยกเว้นในกรมธรรม์ เช่น การคุ้มครองอุบัติเหตุในกรณีขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ การแข่งกีฬาอันตราย การจลาจล เป็นต้น อันจะทำให้เบี้ยประกันภัยเพิ่มสูงขึ้นครับ
- จำนวนเงินเอาประกันภัย: โดยยิ่งเงินเอาประกันมีมูลค่าสูง ราคาค่าเบี้ยก็จะสูงตาม
- จำนวนความรับผิดส่วนแรก: ซึ่งหมายถึงการที่ผู้เอาประกันภัยยอมรับความเสี่ยงส่วนแรกไว้ก่อน หรือจ่ายค่าเสียหายบางส่วนไว้ก่อนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แล้วประกันถึงจะจ่ายค่าชดเชยตามที่ได้ตกลงไว้ ทำให้ได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่จะใช้กับความคุ้มครองรักษาพยาบาลครับ
หากเกิดอุบัติเหตุ ต้องทำอย่างไรถึงจะเคลมประกันได้ ?
หากคุณประสบอุบัติเหตุ อย่างแรกที่ต้องทำก็คือมีสติ แล้วหาทางติดต่อกับบริษัทประกันภัยให้ทราบทันที โดยพยายามเก็บหลักฐานเกี่ยวกับอุบัติเหตุนั้น ๆ ไว้ได้มากที่สุด รวมถึงหลักฐานค่าใช้จ่าย เช่น ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ใบแจ้งความ รายงานจากแพทย์ หรือใบมรณบัตร เป็นต้น แล้วทำการส่งเอกสารเหล่านี้ให้บริษัทประกันเพื่อทำการเบิกเคลมครับ
บจก. เมืองไทย โบรกเกอร์ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาการให้บริการเว็บไซต์แก่คุณ หากคุณดำเนินการต่อหรือปิดข้อความนี้ลง เราถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้และนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา